กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้  สุราษฎร์ธานี เดินหน้าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอารักขาพืชและจัดการศัตรูพืชครบวงจร การันตีผลงานด้วยรางวัลดีเด่นระดับจังหวัด และระดับเขต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วย นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นายชัยพร นุภักดิ์ เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด และระดับเขต ในปี 2562 และรางวัลชนะเลิศ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนดีเด่นระดับจังหวัดและระดับเขต ในปี 2565

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 

พร้อมกันนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมแปลงปลูกทุเรียน ของนายธีระวัฒน์ สงเกื้อ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ ซี่งเป็นแปลงเรียนรู้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน วิธีเขตกรรม วิธีกล วิธีฟิสิกส์ วิธีชีววิธี เน้นการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ในการป้องกันรักษาโรครากเน่าโคนเน่า ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมธาไรเซียม ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช มีการอนุรักษ์และปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต เลี้ยงผึ้งโพรงในสวนทุเรียน ใช้วิธีสารเคมีเป็นวิธีสุดท้าย

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า บทบาทและหน้าที่หลักของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน คือเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมทำหน้าที่สำรวจ ติดตาม และประชาสัมพันธ์เตือนการระบาดของศัตรูพืชให้แก่ชุมชน และให้เกษตรกรสามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ และศัตรูธรรมชาติใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง

ปัจจุบันสมาชิกของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ มีจำนวน 40 ราย มีการผลิตสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อบิวเวอเรีย เชื้อราเมธาไรเซียม และเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ส่วนแมลงศัตรูธรรมชาติ จะเน้นผลิตแมลงหางหนีบ, มวนพิฆาต, มวนเพชฌฆาต และสารสกัดธรรมชาติ จะผลิตน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงเป็นหลักโดยผลงานที่ผ่านมาของศูนย์จัดการศัตรูพืชตำบลตะกุกใต้ ประสบความสำเร็จมาก ในการอารักขาพืช เช่น การใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นและผสมในปุ๋ยหมักในการป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า และยังใช้ผสมกับดินเหนียว หรือดินจอมปลวกทารักษาแผลจากโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน การผลิตและใช้ไส้เดือนฝอยสไตน์เนอร์นีมา กำจัดหนอนชอนเปลือกต้นลองกอง และการผลิตก้อนเชื้อและน้ำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ในการรักษาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน และมอดเจาะต้นทุเรียน

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ จัดตั้งปี 2558 มีการดำเนินงานที่เกิดผลลัพธ์ในชุมชนอย่างน้อย 5 ประการ ประกอบด้วย 1.ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติให้แก่เกษตรกร จนสามารถผลิตใช้เองได้ 2.เป็นแหล่งเรียนรู้ ผลิตขยายสารชีวภัณฑ์ และศัตรูธรรมชาติให้แก่ชุมชน และบริการชีวภัณฑ์ให้แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป 3.ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนในพื้นที่เพื่อผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับมาตรฐาน GAP 4.พัฒนาคุณภาพสารชีวภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานของหน่วยงานราชการ ดังนั้นจากผลงานที่ผ่านมาจึงถือว่าศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ เป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับศูนย์ฯ อื่น

สำหรับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เริ่มแรกมีสมาชิกจำนวน 30 คน เป็นการรวมตัวของเกษตรกรที่มีความต้องการใช้สารชีวภัณฑ์ในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งในปี 2559 ทุเรียนเริ่มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคมากขึ้น และจำหน่ายได้ราคาสูง แต่การปลูกทุเรียนมีปัญหาด้านผลผลิตต่ำ เนื่องจากโรครากเน่าโคนเน่าระบาดรุนแรงในพื้นที่ เกษตรกรจึงมีความสนใจและต้องการองค์ความรู้ในการปลูกทุเรียนโดยลดการใช้สารเคมี และเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) จึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคพืชดังกล่าวด้วยวิธีที่ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา และได้ผลมาจนถึงปัจจุบัน

ด้าน นายธีระวัฒน์ สงเกื้อ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันสมาชิกมีการยอมรับเทคโนโลยี นำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ และได้ขยายผลสู่เกษตรกรทั่วไป โดยได้มีการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลตะกุกใต้ เพื่อรวบรวมเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่มีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง มีใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ใช้สารเคมีเป็นวิธีสุดท้าย ให้ความรู้การผลิตด้านศัตรูพืช การวินิจฉัยโรคพืช และการผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์และศัตรูธรรมชาติอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้การผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์สู่เกษตรกรทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่อำเภอวิภาวดี

นายธีระวัฒน์ สงเกื้อ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้

“จากการได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ จากกรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฏร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอวิภาวดี ทำให้เกษตรกรสสมาชิก สามารถประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการแมลงศัตรูพืช ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีด้านการอารักขาพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านการจัดการศัตรูพืช อาทิ การใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาผสมกับดินเหนียว หรือดินจอมปลวกทารักษาแผลจากโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน และการผลิตและใช้ไส้เดือนฝอยสไตน์เนอร์นีมา กำจัดหนอนชอนเปลือกต้นลองกองรวมถึงการผลิตก้อนเชื้อและน้ำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ในการรักษาโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน มอดเจาะต้นทุเรียน”

นายธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ได้มีการติดตามสถานการณ์และเตือนการระบาด โดยจะทำการสำรวจการเข้าทำลายของศัตรูพืชสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และรายงานผลการสำรวจให้สำนักงานเกษตรอำเภอวิภาวดี ทุกวันอังคาร เพื่อรายงานให้สำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนการการระบาด พร้อมแนะนำวิธีการป้องกัน และกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ ในช่องทางไลน์กลุ่ม ศจช.ตำบลตะกุกใต้ และแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลตะกุกใต้

“ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ได้สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรสมาชิกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะด้านการลดต้นทุนการผลิตในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยการใช้ชีวภัณฑ์ หรือศัตรูธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมี  แปลงปลูกผักปลอดสารพิษ เช่น นายสำราญ วรรณศรี เกษตรกรสมาชิก ได้มีการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาแทนการใช้สารเคมีกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคเน่าคอดินในผักคะน้า และโรคแอนแทรคโนสในพริก ขณะที่นายเฉลิมพล อินทพัฒน์ สามารถลดการใช้สารเคมีรักษาโรครากเน่าโคนเน่า โดยการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา รองก้นหลุม ผสมในปุ๋ยหมัก และฉีดพ่นทางระบบให้น้ำของแปลงทุเรียน” นายธีระวัฒน์ กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated