หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ
หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566 มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนอทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 1 โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ โดยมีองค์ร่วมจัดประกอบด้วย มูลนิธิชีวิตไท มูลนิธิสัมมาชีพ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาองค์กรเกษตรกรแห่งชาติ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท ได้กล่าวเปิดงาน และกล่าวถึงวงจรหนี้สินชาวนาส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และการขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างนโยบาย กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเสวนาวิชาการสาธารณะในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะใน 5 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับทางออกและข้อเสนอทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเพื่อเปลี่ยนเรียนรู้ระดมความคิดเห็นร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวปาฐกถานำการเสวนา หัวข้อ ‘“หนี้ชาวนาไม่ได้เป็นเพียง “ปัญหาส่วนตัว” ทัศนะว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม” ได้ชี้ให้เห็นเส้นทาง “วรจรหนี้สิ้นแบบไม่รู้จบ” ผ่านงานวิจัยข้อมูลการสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย “พบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 450,000 บาท ร้อยละ 54 อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ และครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้เฉลี่ย 3.8 ก้อน ร้อยละ 57 ของครัวเรือนเกษตรกรที่มีหนี้สินเป็นหนี้สินรวมจากทุกแหล่งซึ่งสูงเกินศักยภาพในการชำระหนี้ และยังมีพฤติกรรมหมุนหนี้  “ผลัดผ้าขาวม้า” หรือการกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่าในวงกว้างทำให้ต้องตกอยู่ในวงจรหนี้สินไม่จบสิ้น

ยังมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ “การซื้อหนี้หรือชำระหนี้แทนเกษตรกรมีน้อยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ชาวบ้านเดินขบวนต่อรองไม่ได้ ช่วงรัฐบาลปี 2560-2563 กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้เฉลี่ยปีละ 320 ราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 105 ล้านบาท/ปี และหากมีเพียงกลไกเดียวใช้แก้หนี้สินชาวนา 4.8 ล้านคนจะใช้เวลาราว 15,000 ปี ถ้าคิดเฉพาะแค่เกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน  516,965 ราย จะใช้เวลาราว 1,647 ปี”

ด้านนโยบาย รศ.ดร.ประภาส มองว่า “ปัญหาหนี้สินและเกษตรกรต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง “พลิกโฉม” เพราะที่ผ่านมาการชดเชยแม้ใช้เงินมากแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเกษตรกรอยู่ได้ และไม่สามารถหลุดพ้นจากหนี้สินได้” ดังนั้น งานวิจัยเชิงปฏิบัติการของมูลนิธิชีวิตไทดำเนินการและนำมาสัมมนาวันนี้จึงมีคุณค่ามากว่าการพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกรให้พ้นจากวงจรหนี้ ต้องลงแรงมากอย่างไร และกระบวนการทำงานต้องเป็นอย่างไร

จากนั้นจึงนำเข้าสู่เวทีเสวนา หัวข้อ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม” 

คุณปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอความเป็นธรรมด้านกลไกราคา/กลไกการเงิน มีข้อเสนอทางนโยบายที่น่าสนใจว่า นโยบายการกำหนดราคาข้าวของไทย ควรนำมาใช้แต่ในยามจำเป็นช่วงสั้น เช่น ช่วงที่ราคาข้าวมีราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินหรือติดกับดักหนี้ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา สิ่งสำคัญคือ นโยบายของรัฐบาลควรมุ่งสนับสนุนให้ชาวนามีความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ ทำการเกษตรด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนเป็นและนำแผนไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้ และหาแนวทางการยกระดับสมรรถนะชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ เพราะปัจจุบันชาวนามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความไม่รู้และขาดทักษะการทำการเกษตรสมัยใหม่ จึงต้องพัฒนาชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ ซึ่งจะต้องได้รับความรู้ทั้งด้านการประกอบอาชีพ และความรู้ในการดำเนินชีวิตควบคู่กัน

คุณวรันธรณ์ แก้วทันคํา นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอ ความเป็นธรรมด้านการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลสัญญาสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรเข้าใจถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ทาง ธ.ก.ส. ได้นำเสนอ แต่เกษตรกรไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่แตกต่างกันได้ จึงส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกสินเชื่อของเกษตรกร นอกจากนี้พบว่า เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างทุกรายไม่ได้อ่านสัญญาสินเชื่อ ขณะที่การถือคู่สัญญาเงินกู้พบว่า เกษตรกรที่กู้โดยการค้ำประกันกลุ่มไม่ได้ถือคู่สัญญาเงินกู้ มีเพียง “สมุดบัญชีเงินกู้” อย่างไรก็ตามทาง ธ.ก.ส. แจ้งว่า ในปี พ.ศ. 2567 จะปรับแนวนโยบายใหม่ให้มีการมอบคู่สัญญากับลูกค้าทุกราย และสืบเนื่องจากเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึง มีข้อจำกัดในการจดจำ ซึ่งทาง ธ.ก.ส. เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามหาแนวทางแก้ไขเช่นกัน  ข้อเสนอจากงานวิจัยชิ้นนี้คือ (1) ปรับปรุงให้มีการให้ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อแต่ละประเภทและจัดทำสื่อเป็นแผนภาพที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารเกษตรกร (2) ให้เกษตรกรได้มีเวลาพิจารณาสัญญาอย่างครบถ้วน เช่น ส่งสัญญาให้เกษตรกรทบทวนก่อนลงนาม (3) ธ.ก.ส เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการปรับปรุงสัญญาสินเชื่อเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกรและสภาเกษตรกรแห่งชาติ (4) จัดมีองค์กรหรือบุคคลให้คำปรึกษาเกษตรกรในการทำสัญญาเงินกู้ รวมถึงให้คววามรู้ด้านสินเชื่อ การเก็บ และอ่านเอกสารด้านสินเชื่อ

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอ ความเป็นธรรมด้านระบบสินเชื่อและการเงินฐานราก โดยสรุปให้เห็นถึง สามปัญหาของระบบการเงินฐานรากไทย คือ (1) ความไม่สมมาตรทางข้อมูลและการไม่แชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานกัน ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกร ทำาให้ตลาดไม่สามารถปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึงตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ ยังทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลของเกษตรกรและระหว่างกัน ทำาให้อาจปล่อยกู้รวมกันเกินศักยภาพและความเสี่ยง และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ (2) กลไกการการบังคับหนี้ ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ดีนัก และ (3) การออกแบบสัญญา ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาเกษตรกรและไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจและจ่ายได้ ข้อเสนอการเงินที่ดีต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจของเกษตรกรเป็นหลัก คือ (1) ต้องแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล คือต้องสร้างและใช้ข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพและพฤติกรรมเกษตรกรได้ดีขึ้น ต้องแก้เรื่องข้อมูล ให้ข้อมูลที่มากขึ้น (2) กลไกการการบังคับหนี้ เริ่มาจากแก้หนี้เก่า ปรับโครงสร้างหนี้ตรงศักยภาพ ให้ข้อมูลเหมาะสม มีเครื่องมือสร้างข้อตกลงและกระตุ้นแรงจูงใจชำระหนี้ ปล่อยหนี้ใหม่ให้ยั่งยืน ทั่วถึง ตอบโจทย์ขึ้น  จากนั้น (3) สร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะเฉพาะกลุ่ม และ (4) ต่อยอดศักยภาพและรายได้ เกษตรกร และตลอดห่วงโซ่จนปลายน้ำ

ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ นักวิชาการอิสระ ความเป็นธรรมด้านการจัดการปัญหาหนี้ของชาวนา โดยเสนอรูปแบบการแก้หนี้ชาวนา 4 โมเดล คือ (1) ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร  (2) ลดรายจ่ายครัวเรือน (3) การออม/เงินออม และ (4) สร้างวินัยในการใช้หนี้ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ต้องทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพิ่มความรู้ที่หลากหลายให้กับเกษตรกร พัฒนาระบบกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เกษตรกรมองเห็นทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สิน และสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้คือ เกษตรกรจะต้องลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุง ด้วยตนเอง งานวิจัยชิ้นนี้มีความท้าทายใหม่ทั้งระดับการดำเนินโครงการและระดับนโยบาย คือ การพัฒนาให้เกษตรกรมีศักยภาพที่หลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งด้านการผลิตทั้งต่อยอดและขยายผล ด้านการประกอบอาชีพอื่น ด้านการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ฯลฯ และการพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพหลากหลายมิตินั้น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์มาร่วมมือกัน

คุณนันทา กันตรี ได้รายงานความเป็นธรรมด้านการตลาดของชาวนาที่มีหนี้สิน ศึกษาตลาดเขียวในฐานะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ใน 3 ตลาด คือ ตลาดอนามัยบางขุด ตลาดพอใจ และตลาด 8 ไร่สมาร์ทฟาร์ม เป็นตลาดทั้งรูปแบบมีหน้าร้านและแบบออนไลน์ ผลการศึกษาพบว่า ตลาดมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในด้านราคาที่เป็นธรรม ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐานรับรองและมีความจริงใจและความไว้วางใจกันระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า ความเป็นธรรมต่อผู้เกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรสามารถกำหนดราคาเองได้ มีอาหารปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน มีช่องทางการจําหน่ายผลผลิตอาหารปลอดภัย การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิต อย่างไรก็ตามตลาดเขียวมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากลูกค้ายังน้อย เนื่องจากความหลากหลายของสินค้ายังมีไม่มาก จำนวนร้านค้ามีน้อย สินค้าในตลาดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ คู่แข่งคือตลาดนัดและรถเร่ ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตได้น้อย ผู้ผลิตมีปัญหาหนี้สิน มีฐานะยากจน ผู้ขายไม่กล้าลงทุนมากมีโอกาสที่จะกลับเข้าวงจรหนี้สิน มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้  สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชน มีศูนย์กระจายอาหารปลอดภัยขุมชน การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการชาวนา เช่น ทักษะการขายออนไลน์ การทำกลยุทธ์ทางการตลาด การสนับสนุนการปลดหนี้ชาวนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนเกษตรกร

คุณวลัยพร ทิพยศุภลักษณ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ นำเสนองานวิจัย ความเป็นธรรมด้านการยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ โดยเครื่องมือประเมินศักยภาพการประกอบการชุมชน 5 ด้าน คือ (1) จริยธรรม-สัมมาชีพ (2) การจัดการองค์กร (3) การจัดการวิสาหกิจ (4) นวัตกรรม และ (5) การสร้างผลลัพธ์ต่อชุมชน โดยเครื่องมือนี้จะช่วยให้ทบทวนสถานะของกลุ่ม ตลอดจนความเข้มแข็งของกลุ่มในการมุ่งหน้าสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จากการวิจัยพบว่าการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจหรือธุรกิจแบบชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง มีปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 3 ประการคือ (1) ทุนภายใน เช่น วัตถุดิบ ภูมิปัญญา ผู้นำ การรวมกลุ่มที่มีโครงสร้าง ระเบียบที่ชัดเจน เพื่อการประกอบกิจการหรืออาชีพ (2) ทุนความรู้และการสร้างสรรค์  คือ ความรู้และความสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ เพื่อการประกอบกิจการ อาชีพ หรือธุรกิจชุมชน และ (3) ทุนสนับสนุนจากภายนอก  เช่น  ความรู้ เงิน ทรัพยากรอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบกิจการ อาชีพ หรือ ธุรกิจชุมชน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated