เอ็นไอเอเร่งแจ้งเกิดสตาร์ทอัพสายเกษตร หวังอัพจีดีพี – นำดีพเทคช่วยภาคเกษตรไทย พร้อมเปิดโครงการ Inno4Farmers 2022 ปั้นฮีโร่รุ่นใหม่ทรานส์ฟอร์มเกษตรไทยด้วยเทคฯขั้นสูง
เอ็นไอเอเร่งแจ้งเกิดสตาร์ทอัพสายเกษตร หวังอัพจีดีพี – นำดีพเทคช่วยภาคเกษตรไทย พร้อมเปิดโครงการ Inno4Farmers 2022 ปั้นฮีโร่รุ่นใหม่ทรานส์ฟอร์มเกษตรไทยด้วยเทคฯขั้นสูง

กรุงเทพฯ 21 เมษายน 2565 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดโครงการ Inno4Farmers 2022 เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพสายเกษตรให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาที่มีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เกิดการนำเทคโนโลยีเชิงลึกเข้ามาสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายเกษตร 4.0 และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน -เศรษฐกิจสีเขียว ของรัฐบาล

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA ได้ริเริ่มการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจะสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้ได้อย่างน้อย 100 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2565 – 2567) โดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับประชากรมากกว่าร้อยละ 30 ของประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เพียงร้อยละ 10 และมีอัตราการเติบโตช้า ดังนั้น จึงควรเร่งผลักดันสตาร์ทอัพสายนี้ให้สามารถนำเทคโนโลยีเชิงลึกจากงานวิจัยและพัฒนาขั้นสูงมาแก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ด้วยการเชื่อมโยงให้เกิดแนวร่วมจากทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านการบ่มเพาะเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือ รูปแบบธุรกิจ และเร่งสร้างการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการใช้เทคโลยีเชิงลึกเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยเริ่มจากพัฒนาทักษะและความรู้การสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สำหรับเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านการเกษตรรายใหม่ เชื่อมต่อกับกระบวนการบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดและสามารถระดมทุน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการขยายธุรกิจได้ในระดับภูมิภาค

การบ่มเพาะ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้สตาร์ทอัพมีความเข้าใจโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจให้แข็งแกร่ง รวมถึงได้ประสบการณ์ในการร่วมมือกับหน่วยงานและบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น NIA จึงได้ดำเนินการจัดโครงการ Inno4Farmers ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและรูปแบบธุรกิจด้านการเกษตรของสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการให้สามารถแข่งขันและขยายธุรกิจให้เติบโต เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเกษตรยังมีความท้าทายใหม่ ๆ มากมายที่ต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก การเพิ่มผลผลิต การเพิ่มคุณภาพผลิตผล การใช้ฐานข้อมูลเพื่อทำนายและคาดการณ์ผลผลิต การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ โดยในปีนี้จะเปิดรับสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่มีพื้นฐานจากการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก และต้องการกระบวนการประยุกต์ใช้งานขั้นสูงที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีชีวภาพ บล็อกเชน เซ็นซอร์และไอโอที หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีเชิงลึกอื่นๆ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตร นอกจากความรู้ที่สตาร์ทอัพจะได้รับในระหว่างการเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในภาคการเกษตรและเทคโนโลยี รวมถึงได้ทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้และเข้าใจโจทย์ของภาคการเกษตรได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถนำไปต่อยอดความร่วมมือสู่การขยายธุรกิจได้จริง สุดท้าย ยังมีโอกาสเชื่อมต่อกับนักลงทุนหรือผู้ที่ต้องการเทคโนโลยีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมจะผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม

สตาร์ทอัพสายเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกถือเป็นความหวังของภาคการเกษตรไทยที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงโซลูชั่นให้ตอบโจทย์ท้าทายอย่างหลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านอาหารและพาโลกไปสู่ความยั่งยืน” ดร.พันธุ์อาจกล่าวสรุป

โครงการ Inno4Farmers 2022 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 พฤษภาคม 2565 ทาง https://inno4farmers.nia.or.th และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Facebook : Inno4Farmers หรือ ติดต่อ มณฑา  ไก่หิรัญ 081-372 9163

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated