แนะเพิ่มขีดความสามารถวิสาหกิจไทยตั้งเป็น Global Seed Hub เตรียมรับมือกฎหมาย UPOV 1991
เตรียมรับมือกฎหมาย UPOV 1991

จากเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง ภาคการเกษตรไทย เตรียมความพร้อมอย่างไร ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายในแนว UPOV 1991 ในการประชุมวิชาการครั้งที่ 60 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีนักวิชาการภาคการเกษตร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมการเสวนา ได้แก่ รองศาสตราจารย์สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์ข้าราชการบำนาญ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร. กนกวรรณ ชดเชย ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเมล็ดพันธุ์ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) นายพาโชค พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด นายอำนวย อรรถลังรอง รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านพืชผัก สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิตติภาดากุล ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งได้ข้อสรุปจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ว่า

การปรับปรุงพันธุ์พืชมีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพืชไร่ เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ผลผลิตสูง และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ปัจจุบันธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ภายในประเทศและเพื่อส่งออก โดยการส่งออกเมล็ดพันธุ์ลูกผสมมีมูลค่าสูงประมาณ 7,389 ล้านบาท ภาครัฐมีการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed Hub Center) ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งขีดความสามารถด้านการปรับปรุงพืชเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ การที่งานปรับปรุงพันธุ์พืชอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี และมีมูลค่าการลงทุนสูง โดยอาจสูงถึงปีละ 50 ล้านบาทในบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักปรับปรุงพันธุ์ในการจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินคุ้มค่ากับการลงทุนวิจัยและพัฒนาพันธุ์มากขึ้น จูงใจให้สร้างพันธุ์พืชที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการของเกษตรกร

ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช หรือพระราชบัญญัติ (พรบ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิหวงกัน (exclusive right) ด้านการผลิต การค้าและการจำหน่ายส่วนขยายพันธุ์พืชแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ โดยกฎหมายลักษณะนี้จะมีผลบังคับเฉพาะในประเทศที่ให้สิทธิ์ พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืชถูกตราขึ้นโดยมุ่งสร้างแรงจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย ผ่านการให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการลงทุนทั้งระยะเวลาและเงิน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาพันธุ์ใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีพันธุ์ใหม่ ๆ ให้เลือกใช้อย่างเหมาะสมได้มากขึ้น

การที่ พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ยึดแนวทางของอนุสัญญา UPOV1978 ซึ่ง UPOV เป็นอนุสัญญาว่าด้วยสหภาพการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกภาคีทั้งหมด 78 ภาคีสมาชิก (ประเทศและกลุ่มประเทศ) หรือ 98 ประเทศ ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมดในโลกที่มีจำนวน 193 ประเทศ สาระหลักของ พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่ไม่เป็นไปตาม UPOV 1978 มีเพียงบางส่วน ได้แก่จำนวนชนิดพืชที่ให้ความคุ้มครองพันธุ์ใหม่รายละเอียดลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากพันธุ์ซึ่งปรากฏอยู่ก่อการนับความใหม่ในต่างประเทศ ขอบเขตการคุ้มครอง และระยะเวลาในการคุ้มครอง ปัจจุบันมีพืชที่ประกาศให้จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรา 14 จำนวน 100 ชนิดพืช โดยได้ให้หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของพันธุ์พืชแล้ว 802 พันธุ์

ประเทศคู่เจรจาข้อตกลงการค้าเสรี มักเรียกร้องให้ประเทศไทยเป็นภาคีของสหภาพ UPOV ซึ่งต้องมีการแก้ไข พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้มีสาระเหมือนกับอนุสัญญา UPOV1991 ด้านคุณสมบัตินักปรับปรุงพันธุ์พืช จำนวนชนิดพืชที่ให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การนับความใหม่ในต่างประเทศ รายละเอียดลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากพันธุ์ซึ่งปรากฏอยู่ก่อน การให้ความคุ้มครองชั่วคราว ขอบเขตการคุ้มครอง และระยะเวลาในการให้ความคุ้มครอง จึงจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น่าจะเอื้อโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์แห่งหนึ่งของโลกได้ แต่จะมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก และอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานและ/หรือเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ

ดังนั้นหากต้องมีกฎหมายในแนว UPOV1991 ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมโดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวในการพัฒนาขึ้นเป็น Global Seed Hub ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของคนไทย ด้านการปรับปรุงพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ โดยจัดตั้งกระบวนการที่สามารถช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่นอกเขตชลประทาน

หมายเหตุ : ข่าวโดย..ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 10 มีนาคม 2565 / สรุปประเด็นเสวนาพิเศษ โดย ผศ.พิจิตรา แก้วสอน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated