ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา แนะการแพทย์ ยุค Next Normal ต้องให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพ...

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา แนะการแพทย์ ยุค Next Normal ต้องให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพ เพื่อรับมือเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและจัดการภาวะคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ในเวทีการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 60 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ (21 ก.พ.65) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 60 หรือ The 60th  Kasetsart University Annual Conference ภายใต้หัวข้อ “เกษตรศาสตร์ วิถีถัดไป พลิกวิกฤติสู่ความยั่งยืน” “Next Normal KASETSART: Turning Crisis into Sustainability” ขึ้นเป็นวันแรก ผ่านระบบ Cisco Webex, NontriLive ที่ https://live.ku.ac.th และ FacebookLive ที่ https://www.facebook.com/KasetsartUniversity โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งกำหนดจัดการประชุม รวม 3 วัน ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบด้วยการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ภาคบรรยายจำนวน 143 เรื่อง ภาคโปสเตอร์จำนวน 86 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 229 เรื่อง

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติเป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “Disruptive Technology กับระบบสุขภาพยุค Next Normal” เพื่อเปิดมุมมองวิถีถัดไปพร้อมกระบวนการรับมือต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและจัดการต่อภาวะคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ด้วยระบบบริการสุขภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แก่ 1. Globalization ผลจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางลบและทางบวก เช่นทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่ายและในทางกลับกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ง่ายยิ่งขึ้น 2. Digitalization เกิดกระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล 3. Disintermediation การหายไปของตัวกลางในระบบบริการสุขภาพ 4. Disruptive technologies การใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าเข้ามามีบทบาทและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5. Climate change การเปลี่ยนแปลงสภาพระบบภูมิอากาศของโลกซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และเป็นสาเหตุของโรคระบาดที่เกิดการระบาดทั่วโลกที่สำคัญ (Viral Pandemic) ได้แก่การแพร่กระจายเชื้อก่อโรค SARS, ไข้หวัดหมู (Swine Flu), โรคเมอร์ส (MERS), โรคไข้ซิกา (Zika) และในปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid19)

ดังนั้น ระบบบริการสุขภาพจะเข้ามามีส่วนช่วยในการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

  1. ระบบสุขภาพต้องถูกออกแบบเพื่อส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีทั้งจิตใจและร่างกายในบุคคลทั่วไปและบุคลากรด้านสุขภาพ
  2. ระบบสุขภาพต้องมีคุณภาพ (Quality) มีการปรับตัวและความคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Agility) 
  3. ระบบสุขภาพต้องมีความพร้อมในการรับมือต่อการแพร่ระบาดครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งโรคในกลุ่ม NCDs (Non-communicable diseases)

ผู้เกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1. ผู้มีอำนาจรับผิดชอบ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ 2. ผู้ที่นำนโยบายมาดำเนินการ และ 3. ประชาชน โดยในแต่ละส่วนนั้นจะมีผู้ที่คอยกำกับดูแล ในระบบบริการสุขภาพนั้นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการ การเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและจัดการต่อภาวะคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังได้อธิบายเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของระบบบริการสุขภาพ (New Normal Healthcare system) อย่างชัดเจนว่า ประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบ ดังนี้

  1. Health Promotion (การสร้างเสริมสุขภาพ) ได้แก่ การบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Telehealth) และความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ทันสมัย (Health Literacy)
  2. Disease Prevention (การป้องกันโรค) ได้แก่ 1. การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic testing) ทำให้ทราบรหัสพันธุกรรมของตนเอง สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีผลต่อโรค และ 2. การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค (Vaccination)
  3. Treatment of Disease (การรักษาโรค) โดยในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การใช้ระบบการพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) หรือหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการรักษา
  4. Rehabilitation (การฟื้นฟูสภาพ) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล (Tele rehabilitation)
  5. Palliative care (การประคับประคอง) การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์ (Tele – consultation) หรือการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical robot) 
  6. End of life care (การดูแลระยะสุดท้าย) โดยใช้ Tele–consultation และ Medical robot  

“ระบบการดูแลสุขภาพที่ดีนั้นจะต้องเข้าถึงได้มากภายใต้คุณภาพที่เป็นที่ยอมรับและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่าย (Cost) 2. การรักษาพยาบาลโดยตรงและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง (Quality) 3. การเข้าถึง (Access) โดยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงได้ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน และนอกจากนี้บุคลากรด้านสุขภาพจำเป็นต้องเรียนรู้ด้านสุขภาพ (Health Education) โดยระบบการดูแลสุขภาพที่ดีประชาชนต้องมีความเสมอภาค (Equity) ในการเข้าถึงและสามารถการยกระดับทางสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น (Population health)

ในอนาคตการใช้ Tele-system และ 5G technology จะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของระบบบริการสุขภาพให้ก้าวหน้า ทำให้ผู้ป่วยและแพทย์เกิดการปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า (Face to face) น้อยลงและเข้าสู่ระบบ Digital Healthcare มากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์อาทิเช่น การใช้สมาร์ทโฟน (Smart phone) ทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์ไว้ที่ระบบจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud technologies) ทำการประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ Ai เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร จากนั้นแพทย์จะทำการถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวกลับไปสู่คนไข้ นอกจากนี้การพัฒนาของเทคโนโลยีที่มากขึ้นในปัจจุบันทำให้แพทย์และคนไข้เกิดปฏิสัมพันธ์และสามารถแลกเปลี่ยนความรู้สึกร่วมกันได้อีกด้วย (High tech and high touch)” ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  กล่าว

หมายเหตุ : ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 21 กุมภาพันธ์ 2565 / สรุปปาฐกถา โดย นางสาวดลฤดี  โตเย็น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated