ปลูกทุเรียนแบบสวนป่าอาจไม่ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจในทันที แต่ตอบโจทย์เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม..เรื่องใหญ่ของโลกใบนี้
เกษตรก้าวไกลลุยตามหาสุดยอดทุเรียนไทยที่สวนละอองฟ้า นครนายก..(ภาพโดย จตุพล เกษตรก้าวไกล)

เรื่องโดย : ลุงพร เกษตรก้าวไกล

เมื่อวานนี้ (19/6/64) ผม(ลุงพร)และทีมงานเกษตรก้าวไกลได้พบกับ คุณชาตรี โสวรรณตระกูล CEO เจ้าของสวนละอองฟ้า-The Demeter Garden สวนอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียน(ปลูกทุเรียน) รวม 53 สายพันธุ์ บนพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ณ ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทร.0897491735สวนทุเรียนละอองฟ้าคุณชาตรี อ_6.เมืองนครนายก

ความตั้งใจเดิมที่ไปนั้นกะว่าจะค้นหาคำตอบเรื่องหลักการปลูกทุเรียนแบบสวนป่า ว่าเลือกสายพันธุ์อย่างไร ปลูกพันธุ์ไหนก่อนหลังอย่างไร จัดการอย่างไรให้ทุเรียนที่ปลูกได้ผลผลิตดี และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจถ้านับเป็นรายได้คุ้มแค่ไหนอย่างไร ความคุ้มที่ว่ามีดัชนีชี้วัดนอกจากเรื่องรายได้แล้ว เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างไร

กองบัญชาการสวนละอองฟ้า
กองบัญชาการสวนละอองฟ้า

หลายคำถามที่ตั้งใจจะไปหาคำตอบ ยังไม่บรรลุผลครับ หลายท่านที่ติดตามเกษตรก้าวไกลอาจจะผิดหวังเล็กๆ เนื่องจากผมได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะ LIVE สดจากสวน แต่สวนของพี่ชาตรีเป็นสวนป่าระบบสัญญานโทรศัพท์ไม่ค่อยเป็นใจ(ไม่เสถียร) ก็เลยพลาด จึงแก้ไขเป็นการถ่ายคลิปก็จัดแจงถ่ายไปพอสมควรแต่ดันมีปัญหาเรื่องระบบเสียงไม่สมบูรณ์ในบางช่วงบางตอน จึงนำเรื่องมาปะติดปะต่อค่อนข้างยากอยู่ เช้าวันนี้จึงโทร.คุยกับพี่ชาตรีบอกไปว่าจะหาโอกาสไปเยือนใหม่อีกสักครั้ง…

ฤดูกาลทุเรียนก็จะเห็นภาพการขึ้นทุเรียนแบบนี้
ฤดูกาลทุเรียนก็จะเห็นภาพการขึ้นทุเรียนแบบนี้ (ภาพจากเพจสวนละอองฟ้า The Demeter Garden)

ต้องขอบอกเลยว่าสวนของพี่ชาตรี เป็นสุดยอด “สวนป่าทุเรียน” ที่เริ่มหาได้ยากในประเทศไทยนี้ที่ยังคงอนุรักษ์การปลูกทุเรียนแบบดั้งเดิม “สวนเทวดาเลี้ยง” ซึ่งสวนแบบนี้ที่ภาคใต้จะเรียกสวนสมรม ก็อาจจะหาชมได้บ้าง แต่นครนายกที่อยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯ เข้าใจว่าไม่น่าจะมีครับ (หรือมีก็บอกกกันมาครับ)

ธรรมชาติเป็นใหญ่ที่สวนละอองฟ้า
ธรรมชาติเป็นใหญ่ที่สวนละอองฟ้า

สวนละอองฟ้าของคุณพี่ชาตรีจึงน่าจะตอบโจทย์ในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรสำหรับคนเมืองได้อีกแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ยุคที่โควิด-19 ผลักให้ทุกคนไปอยู่มุมเขียวที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว เพราะว่าเป็นสวนที่คำนึงถึงธรรมชาติละสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติแบบไม่ต้องเสแสร้งแต่นี่คือของจริงที่เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยแท้ๆ

ทุเรียนพันธุ์เหมราช อร่อยมากๆ
ทุเรียนพันธุ์เหมราช อร่อยมากๆ

มีเรื่องเล่าให้ฟังคือระหว่างที่นั่งคุยกับคุณพี่ชาตรีนั้น ผมเห็นนกกางเขนดง(นกบินหลาดง) คู่หนึ่งที่เป็นตัวผู้ตัวเมียกำลังบินจับคู่หยอกล้อกันต่อหน้าต่อตา(นกชนิดนี้เคยมีมากในภาคใต้แต่ปัจจุบันหาได้ยากยิ่งแล้ว) นี่น่าจะส่งผลมาจากการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานแบบที่เรียกว่าอิงธรรมชาติ และคุณพี่ชาตรียังบอกอีกว่าปีนี้ทุเรียนที่สวนติดผลถึง 42 สายพันธุ์ มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา (ซึ่งก็น่าจะส่งผลมาจากสภาพแวดล้อมของสวน) พันธุ์หลักๆก็เช่น หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ฯลฯ แต่ทุเรียนส่วนหนึ่งก็ต้องปลูกเผื่อกระรอก เพราะต้องการให้สัตว์ทุกชนิดอยู่ร่วมกันกับสวนทุเรียนรวมทั้งสวนผลไม้ชนิดอื่นๆที่ปลูกสร้างขึ้น

หมอนทองสวนละอองฟ้า เกือบจะลูกสุดท้ายแล้วในฤดูกาลนี้
หมอนทองสวนละอองฟ้า เกือบจะลูกสุดท้ายแล้วในฤดูกาลนี้ (ภาพโดย จตุพล เกษตรก้าวไกล)

เส้นทางของสวนละอองฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของพี่ชาตรี “ศิลปินสวนป่าทุเรียน” (จบช่างศิลป์ภาพที่เห็นวาดติดไว้ที่บ้านไม้ไผ่นั่นคือฝีมือพี่เขาล่ะ) จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางการทำเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์ ซึ่งก็คือการทำสวนแบบดั้งเดิม อาจไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจเชิงรายได้ แบบกะทันหันเร่งด่วน แต่ตอบโจทย์เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และสิ่งที่จะตามในอนาคตอันใกล้นี้คือเรื่องท่องเที่ยวเชิงการเกษตร ยังไงก็ช่วยกันสนับสนุนแนวทางนี้ให้อยู่รอดอยู่ได้นะครับเพื่อนๆ…

ทางเข้าสวนร่มรื่น ทำเป็นซุ้มกอไผ่
ทางเข้าสวนร่มรื่น ทำเป็นซุ้มกอไผ่

ขอบคุณฟอร์ดประเทศไทย พาหนะลุยตามหาสุดยอดทุเรียนไทย..เราจะเดินทางไปที่สวนไหนตอบโจทย์(สุดยอด)ในเรื่องอะไร โปรดติดตามนะครับ

ระหว่างสัมภาษณ์ถ่ายทำเรื่องราว โดย "น้าตู่" และทีมงานเกษตรก้าวไกล (ภาพโดย จตุพล เกษตรก้าวไกล)
ระหว่างสัมภาษณ์ถ่ายทำเรื่องราว ของสวนละอองฟ้า โดย “น้าตู่” และทีมงานเกษตรก้าวไกล (ภาพโดย จตุพล เกษตรก้าวไกล)
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated