นักพฤกษศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ พรรณไม้ป่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” ชนิดใหม่ของโลกในเอเซีย
นักพฤกษศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ พรรณไม้ป่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” ชนิดใหม่ของโลกในเอเซีย

คณะนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Prof. Henrik Balslev มหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก (Aarhus University, Denmark) ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในเอเซีย Dolichos kongkandae R. Meeboonya, Ngerns. & Balslev ชื่อภาษาไทยว่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ทางอนุกรมวิธานพืชให้โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand Project)ค้นพบ “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” ชนิดใหม่ของโลก

ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย
ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย
ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา
ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในเอเซียว่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา ผู้ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการพัฒนากําลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งตนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก และ ได้ทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) รหัสโครงการ 3.1-61.61 และ The Carlsberg Foundation ประเทศเดนมาร์ก

Prof. Henrik Balslev
Prof. Henrik Balslev

“ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” อยู่ในวงศ์ถั่ว วงศ์ย่อยประดู่ (Leguminosae, Papilionoideae) เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นพันเลื้อย หูใบรูปไข่หรือรูปรีกว้าง ติดทน ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบปลายรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปไข่กว้าง กว้าง 1.5-4.5 ซม. ยาว 3.5-8 ซม. ปลายแหลมและมีติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบ ใบย่อยคู่ข้างรูปไข่หรือรูปใบหอก ไม่สมมาตร ปลายแหลมและมีติ่งแหลม โคนมนกลม มน หรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบ ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงเข้ม เมื่อแห้งสีม่วงแกมสีดำ กลีบดอกมีก้านกลีบ กลีบกลางรูปเกือบกลม ปลายเว้าตื้น มีรยางค์ 2 รยางค์อยู่บริเวณกลางกลีบ กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ ปลายเว้าตื้น มีรยางค์ 1 รยางค์อยู่บริเวณใกล้โคนกลีบ กลีบคู่ล่างรูปขอบขนาน ปลายตัด เกสรเพศผู้ 10 เกสร เชื่อมติดสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 เกสร อีกกลุ่มหนึ่งมี 1 เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ สีเขียวอ่อน มีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียแบน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มีขนยาว ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝัก แบน รูปขอบขนาน กว้าง 6-8 มม. ยาว 5-7.5 ซม. เมล็ดแบน รูปรีหรือรูปขอบขนาน

“ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” มักระบุชนิดผิดเป็น “ถั่วเพรียว” Dolichos tenuicaulis (Baker) Craib เนื่องจากมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลายอย่างคล้ายกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นตัวอย่างพรรณไม้แห้ง จากการศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์และเทียบเคียงกับตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ (type specimens) อย่างละเอียดแล้วพบว่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” มีลักษณะเด่นคือ ลำต้นและใบมีขนหนาแน่น หูใบรูปไข่หรือรูปรีกว้าง กลีบดอกสีม่วงเข้ม เมื่อแห้งสีม่วงแกมสีดำ ซึ่งแตกต่างจาก “ถั่วเพรียว” ที่ลำต้นและใบมีขนประปราย หูใบรูปใบหอก รูปรี หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม สีดอกสีชมพูแกมสีม่วงหรือสีชมพูอ่อน เมื่อแห้งสีเหลือง นอกจากนี้พืชทั้ง 2 ชนิดยังมีความยาวช่อดอก ก้านผลย่อย ขนาดของหูใบ หูใบย่อย ใบประดับ กลีบกลาง กลีบคู่ข้าง และกลีบคู่ล่างแตกต่างกันด้วย    ค้นพบ “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” ชนิดใหม่ของโลก

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ยังกล่าวอีกว่า คำระบุชนิด “kongkandae” และชื่อไทย “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” นั้น ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ ดร.ก่องกานดา ชยามฤต ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ ผู้มีคุณูปการต่องานทางพฤกษศาสตร์ไทย อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของ ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา“ แหล่งที่พบ ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” คือบริเวณพื้นที่เปิดโล่งหรือเขาหินปูนในป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 550-2,150 ม. นอกจากพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวแล้ว ยังพบได้ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในต่างประเทศพบที่ภูฏาน อินเดีย เมียนมา จีน และลาว ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคมค้นพบ “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” ชนิดใหม่ของโลก

ผลงานการค้นพบพืชชนิดใหม่ ของโลก นับเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่มีคุณค่าทางวิชาการ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการวิจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ทางอนุกรมวิธานพืชให้โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand Project) ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก มาแล้วจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ช้างงาเอก (Garcinia nuntasaenii Ngerns. & Suddee) วงศ์ Clusiaceae (Guttiferae) เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล (Coelogyne phuhinrongklaensis Ngerns. & Tippayasri) วงศ์ Orchidaceae ทังใบขนภูวัว (Litsea phuwuaensis Ngerns.) วงศ์ Lauraceae และล่าสุด คือ “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” Dolichos kongkandae R. Meeboonya, Ngerns. & Balslev อยู่ในวงศ์ถั่ว วงศ์ย่อยประดู่ (Leguminosae, Papilionoideae)

“ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” Dolichos kongkandae R. Meeboonya, Ngerns. & Balslev ตีพิมพ์
ในวารสาร PhytoKeys 175: 55–65. เรื่อง Dolichos kongkandae sp. nov. and lectotypification of
D. fragrans (Leguminosae, Papilionoideae) from Asia ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ เก็บโดย รัมภ์รดา มีบุญญา และ พีรนันท์ ยอดบ่อพลับ (R. Meeboonya & P. Yodboplub 406) ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560

(ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์/ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ/ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 เมษายน 2564)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated