ภาคเกษตรกรรมนับว่ามีบทบาทสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ส่งผลกระทบต่อทุกสายงานอาชีพ ผู้คนออกมากักตุนอาหาร เพราะกลัวอดตาย จึงกลายเป็นสิ่งชี้วัดได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆ สิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นมากที่สุดสำหรับมนุษย์ก็คือ ความมั่นคงทางอาหาร ที่ต่อให้จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยหรือเป็นประเทศมหาอำนาจ หากขาดความมั่นคงทางอาหารแล้วนั้น ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”กรมส่งเสริมการเกษตร มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรและประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป จึงไม่หยุดนิ่งที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ทั้งในด้านของการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ รวมถึงการขยายองค์ความรู้ในการทำเกษตร จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีองค์ความรู้ในการสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงเองได้ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง มีการจัดเจ้าหน้าที่เกษตร และจัดอบรมเพื่อให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงโครงการผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรต่อไป

YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”

คุณชัด ขำเอี่ยม เกษตรอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญในเรื่องของงานส่งเสริมการเกษตร สำหรับเกษตรอำเภอ ได้ยึดหลักปฏิบัติหน้าที่ตามสโลแกนการบริหารงาน ที่บอกว่า “แนะนำ ส่งเสริม เพิ่มพูนผลผลิต คือภารกิจของเกษตรอำเภอ”

โดยภารกิจสำคัญของสำนักงานเกษตรอำเภอ คือ การช่วยเหลือและการสนับสนุนให้ความรู้เพื่อติดอาวุธให้กับเกษตรกร ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ในด้านของทฤษฎีจะมีการจัดเจ้าหน้าที่อบรมให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องของการจัดทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย รวมถึงการจัดอบรมสอนการทำตลาดออนไลน์ และในภาคปฏิบัติมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการปลูก การบริหารจัดการดินและน้ำ ไปจนถึงคำแนะนำแก้ไขปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง และนอกเหนือจากการเผยแพร่องค์ความรู้ คือการที่ได้สร้างบุคลากรสำคัญที่มีคุณภาพ จนสามารถนำความรู้ที่เป็นประโยชน์ไปเผยแพร่ให้กับคนในชุมชนต่อไปได้ อย่างเช่น เกษตรกรตัวอย่างท่านนี้

อมร ศรีบุญนาค คือเกษตรกรต้นแบบ ที่เริ่มต้นตั้งแต่เข้ามาขอคำปรึกษาที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ในเรื่องของการทำเกษตรผสมผสาน เมื่อผมมองเห็นคุณอมรเป็นคนที่มุ่งมั่นและสนใจในเรื่องของการหาความรู้ ตรงตามทฤษฎีที่บอกว่า หัวไว ใจสู้ ผมก็ได้ติดตามเขามาโดยตลอด และต้องบอกเลยว่าความแตกต่างตั้งแต่เริ่มแรก เรียกว่าพลิกฝ่ามือเลย เพราะว่าพื้นที่เดิมเป็นที่นา ที่เขาจะต้องทำนาตลอด เขาก็จะรู้อยู่แล้วว่าการทำนาต้องใช้ต้นทุนมาก แต่ได้กำไรน้อย แต่พอมายึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ คือเปลี่ยนจากนาเป็นสวน แล้วก็ได้แนะนำให้เขาว่าการทำฟาร์มจะต้องมีเงิน ตั้งแต่รายวัน รายเดือน รายปี เพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอด จนทุกวันนี้จากคนที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรกลายมาเป็นเจ้าของสวนที่เป็นต้นแบบให้กับคนในชุมชนและได้กลายเป็น Young Smart Farmer หรือ YSF ที่มีคุณภาพ นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม” คุณชัด กล่าว

ต้นแบบเกษตรกรนักสู้
อมร ศรีบุญนาค”

คุณอมร ศรีบุญนาค เกษตรกรเจ้าของสวนศรีบุญนาค อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์คนเก่งของจังหวัดชัยนาท อดีตมนุษย์เงินเดือนผันชีวิตเป็นเกษตรกร เข้ามาพลิกฟื้นผืนดินของพ่อแม่ด้วยการน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ปรับปรุงจัดสรรพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน บนพื้นที่ 12 ไร่ 3 งาน จนประสบผลสำเร็จ ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด ด้วยความช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา ที่เป็นทั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาที่ดีอยู่เคียงข้างกับเกษตรกรในทุกย่างก้าว

YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”

คุณอมร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรว่า อดีตเคยทำงานตำแหน่งคิวซี อยู่ที่ต่างประเทศมาก่อน หลังจากนั้นได้ลาออกจากงาน เนื่องจากต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ที่อายุมากขึ้น ซึ่งในตอนที่ตัดสินใจลาออกจากงานนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาประกอบอาชีพอะไร พ่อกับแม่ก็มีแต่ไร่นา ซึ่งที่ผ่านมาก็มักจะประสบปัญหาหนี้สินมาโดยตลอด ตนก็ไม่อยากกลับไปประสบปัญหาเดิมซ้ำๆ จึงตัดสินใจปรึกษากับพ่อแม่ แล้วขอพลิกผืนนาของท่านบางส่วนทำเป็นเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เคยได้อ่านมาในครั้งที่ยังทำงานประจำอยู่

“ตอนแรกพ่อกับแม่ก็ยังไม่เห็นด้วย คนแก่พอมาเห็นอะไรที่เป็นร่องๆ เขาจะทำใจไม่ได้ เขาไม่สนับสนุน แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ อยากทำให้พ่อกับแม่เห็นว่าสิ่งที่เราคิดมันทำได้ และอยากทำให้เห็นว่า จริงๆ หลักที่ในหลวงท่านเคยสอนเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น นำมาปรับประยุกต์ภายในสวน ด้วยการบริหารจัดการน้ำ จัดการผืนดินที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด” คุณอมร กล่าว

YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”

เริ่มต้นจากอุปสรรคมากมาย
สำเร็จได้ เพราะมีที่ปรึกษาที่ดี

คุณอมร บอกว่า หลังจากที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะลุยในด้านของการทำเกษตรผสมผสาน ก็ได้หาวิธีการที่จะเข้าถึงแหล่งความรู้ และต้องการที่จะหาแหล่งความรู้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งที่แรกที่นึกถึงในตอนนั้นคือ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหันคา

“ในวันแรกที่เดินเข้าไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่อย่างคนไม่รู้อะไรเลย ก็ถามอย่างคนไม่มีความรู้ไปว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนจากการทำนา มาเป็นเกษตรผสมผสาน ต้องทำยังไงบ้าง พี่เจ้าหน้าที่ก็ได้ให้คำแนะนำมาว่า อันดับแรกต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อน เราก็ได้จัดการ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเรียบร้อย นี่ก็เป็นที่มาของการเริ่มต้นการเป็นเกษตรกร” คุณอมร กล่าว

หลังจากที่ได้ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นในเรื่องของลักษณะภูมิศาสตร์ในพื้นที่ ว่าในแต่ละปีจะต้องประสบกับปัญหาอะไรบ้าง อากาศเป็นยังไง น้ำท่วมกี่ครั้งในรอบกี่ปี โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและตามมาเป็นพี่เลี้ยงถึงสวน คอยติดตามผลกันมาตลอด จนประสบความสำเร็จเป็นสวนศรีบุญนาคมาถึงทุกวันนี้ แต่กว่าจะประสบผลสำเร็จมาได้ ทั้งตนและพี่ๆ เจ้าหน้าที่เกษตรต้องล้มลุกคลุกคลาน ผ่านพ้นอุปสรรคด้วยกันมามากมาย

โดยอุปสรรคที่ 1. เกิดจากครอบครัว ความเข้าใจของคนในครอบครัวสำคัญมาก ต้องเข้าใจต้องเห็นไปทิศทางเดียวกัน 2. พื้นที่ ปลูกอะไรก็ไม่โต เนื่องจากพื้นที่สวนเป็นที่ลุ่ม จำเป็นต้องยกร่อง ถ้าไม่ยกร่องต้นไม้จะเน่าเสียหายหมด เพราะรากพืชไม่สามารถหาอาหารกินได้ 3. อุปสรรคของดิน ดินถือเป็นปัญจัยสำคัญในการปลูกพืช ดินที่สวนเป็นดินเหนียว ปลูกอะไรก็ไม่งาม จึงต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เกษตร ส่งเข้าไปอบรมที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. เพื่อเรียนรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้เวลาเรียนรู้กว่าครึ่งปี จนสามารถนำมาปรับปรุงที่สวนได้

พื้นที่ 12 ไร่ 3 งาน
จัดสรรพื้นที่อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการทำเกษตรผสมผสาน บนพื้นที่ 12 ไร่ 3 งาน นั้น คุณอมร บอกว่า การจัดสรรพื้นที่ก่อนปลูกนั้นทางเจ้าหน้าที่เกษตร ได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การวางผังปลูก ระยะการปลูก ระยะการวางร่อง รวมถึงการจัดวางระบบน้ำ มีการนำเทคโนโลยีระบบโซล่าร์เซลล์เข้ามาใช้ในการรดน้ำ ช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา และเป็นประโยชน์ในระยะยาว

และในส่วนของการวางผังจัดการปลูกพืชนั้น มีการขุดร่องดินทั้งหมด 11 ร่อง แบ่งปลูกเป็นพืชหลักและพืชรอง ในส่วนของพืชหลักจะเลือกปลูกส้มโอขาวแตงกวา ผลไม้เด่นประจำจังหวัดชัยนาท มีจุดเด่นที่รสชาติอร่อย หวาน กรอบ ส่วนพืชรองจะเลือกปลูกพืชที่ให้ผลผลิตไว และสามารถอยู่ด้วยกันอย่างเอื้อประโยชน์ อย่างเช่น มะละกอฮอลแลนด์ กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ และฝรั่งกิมจู แล้วแซมด้วยพืชผักสวนครัวอีกเล็กน้อย ตามความเหมาะสมของพื้นที่

YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”ส่วนการสร้างรายได้นั้น ในช่วงแรกส้มโอที่เป็นพืชหลักจะต้องใช้เวลาในการปลูกจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกได้นั้นใช้เวลากว่า 4 ปี ซึ่งในระหว่างที่รอผลผลิตหลัก ที่สวนก็จะมีรายได้จากพืชรองที่ปลูก อย่างมะละกอฮอลแลนด์ เก็บขายได้ทุก 4 วัน กล้วยหอม ที่ลงปลูกไว้ 1,500 ต้น ผลผลิตก็จะสลับกันออกสร้างรายได้เป็นรายสัปดาห์ สะสมเงินในส่วนนี้มาซื้อต้นพันธุ์ของพืชหลักเพิ่ม ที่สวนจะไม่ลงทุนให้หมดในทีเดียว แต่จะมีการวางแผนให้เกิดรายได้ขึ้นมาเพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาเพิ่มตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เกษตร

YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”

ตลาดฉลุย” เพราะผลผลิตที่มีคุณภาพ
ประกอบกับการมีที่ปรึกษาที่ยอดเยี่ยม

คุณอมร บอกว่า ปัญหาหลักๆ ที่อยู่คู่กับเกษตรกรคือ เรื่องของการหาตลาด เกษตรกรหลายคนเก่ง ปลูกได้ แต่ขายไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน แต่ที่สวนศรีบุญนาคจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ขายผลผลิตไม่ได้ เพราะเรามีที่ปรึกษาที่ดี มีคนให้คำแนะนำในการทำตลาดที่ดีต้องทำแบบไหน อันดับแรกเลยคือคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า เกษตรกรต้องผลิตสินค้าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อันดับถัดมาคือเรื่องของการสร้างจุดเด่นของสินค้า สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ และผู้ผลิตหรือเจ้าของสวนถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขายเช่นกัน ถ้าไปขายที่ไหนเจ้าของสวนไปเอง จากมือผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น เขาจะได้สินค้าที่ราคาถูกและปลอดภัย ต่อมาเป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และการได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่เกษตร ส่งเสริมในเรื่องของการขาย มีการจัดตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดสินค้าเกษตร รวมถึงการขอมาตรฐาน GAP ตรงนี้สำนักงานเกษตรอำเภอมีบทบาทมากๆ และอันดับสุดท้ายสำคัญมาก เป็นเรื่องของการทำตลาดออนไลน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา ส่งเข้าไปอบรมการทำตลาดออนไลน์ เรียนรู้ของการสร้างเพจ ตรงนี้ในช่วงของโควิด-19 เราเห็นอะไรได้ชัดมากเลย เราได้ประโยชน์จากการขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าโควิดทำให้ทั้งแม่ค้าและลูกค้าออกไปไหนไม่ได้ การขายออนไลน์ถือเป็นทางรอดที่ดีมากสำหรับเราตอนนี้ ทำให้เราอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนมาถึงวันนี้YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”

ต้นแบบเกษตรกรเข้มแข็ง
การกระจายรายได้สู่ชุมชน

คุณอมร บอกว่า จากการที่ทำสวนมาได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มประสบผลสำเร็จมาเรื่อยๆ จากตอนแรกที่ทำ ชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่าเราบ้า เพียงเพราะเราทำไม่เหมือนเขา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราได้ทำให้เขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ได้บ้า แต่เป็นการทำของคนมีสติต่างหาก เมื่อเขาได้เห็นผลรับที่เราได้จากการที่มีรายได้เข้ามาทุกวัน เห็นว่ามีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตถึงที่สวน เห็นเราไปออกบูธตามงานต่างๆ ขายดิบขายดี ก็เริ่มมีคนเข้ามาถามและขอความรู้ เพราะเขาอยากทำอย่างเราบ้าง ซึ่งพอได้ยินคำนี้เราดีใจมาก ที่เริ่มมีคนเห็นถึงสิ่งที่เราทำ และมองเราเป็นต้นแบบ เราเต็มใจที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้กับพวกเขามากๆ

“สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายรายได้สู่ชุมชน เขาได้รับคำแนะนำจากเรา มีปัญหาตรงไหน เราไปช่วยเขาดู แนะนำการใช้สารชีวภัณฑ์ต่างๆ วันนี้น้องๆ พี่ๆ เขายิ้มออก เพราะว่าเขามีรายได้ก่อนที่จะเกี่ยวข้าว หลายๆ คนเขามีความสุขขึ้นจากรายได้ที่เขาได้เพิ่มขึ้น แล้วเราก็เป็นคนหาตลาดช่วยเขา ขายตลาดเดียวกัน ช่วยกันระบายของ เขาก็จะมีส่วนร่วมกับเราทุกอย่างกลายเป็นกลุ่มก้อนที่เรียนรู้การใช้ชีวิตกลุ่ม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง” คุณอมร กล่าวทิ้งท้าย

YSF หญิงเก่ง พลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสาน สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “มีกิน มีใช้ มีเก็บ”

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated