“สวนดาวทอง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ของจังหวัดยะลา โดยกรมส่งเสริมการเกษตร มีหน้าที่ดำเนินการฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือผู้สนใจที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร โดยจะเน้นให้ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการภาคการเกษตร“

สวนดาวทอง มองจากมุมสูง
สวนดาวทอง มองจากมุมสูง

“ด้วยกรมส่งเสริมการเกษตร อยากให้พวกเรานั้นไม่ใช่เป็นเกษตรกรอย่างเดียว แต่อยากให้เป็นผู้ประกอบการด้วย ซึ่งเน้นการดำเนินงานทั้งด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ ในรูปแบบของการวางแผนงานแบบทำน้อยได้มาก การวางแผนด้านการตลาดนำการผลิต มีการวางแผนธุรกิจ ผลิตพืชที่ตรงกับความต้องการของตลาด เหล่านี้คือสิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้พยายามฝึกฝนให้พวกเราได้ดำเนินการ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ เพราะเกษตรกรยุคใหม่นั้นต้อง Smart ครับ”

คุณสมชาย เชี่ยวชาญศิลป์ เกษตรกรเจ้าของสวนส้มโชกุน สวนดาวทอง
คุณสมชาย เชี่ยวชาญศิลป์ (คนกลาง) เกษตรกรเจ้าของสวนส้มโชกุน สวนดาวทอง

คุณสมชาย เชี่ยวชาญศิลป์ เกษตรกรเจ้าของสวนส้มโชกุน สวนดาวทอง กม.16 เลขที่ 86/1 หมู่ที่ 5 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โทร.08-9776-4107 ในฐานะประธานศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ของกรมส่งเสริมการเกษตร และยังดำรงตำแหน่งประธาน Young Smart Farmer (YSF) จังหวัดยะลา บอกกล่าวถึงบทบาทหน้าที่และเป้าหมายที่สำคัญของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่วันนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการสร้างความสำเร็จในอาชีพ ยุคเกษตร 4.0 ของจังหวัดยะลา

ทั้งนี้ สำหรับศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 77 ศูนย์ ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้เป็นศูนย์ที่เชื่อมโยงการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer (YSF) เป็นแหล่งเชื่อมโยงถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร การตลาด และเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมสร้างทายาทเกษตรกร รุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์การเกษตรยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“มาถึงวันนี้สามารถบอกได้เลยว่า สำหรับในพื้นที่อำเภอเบตงนั้น หากใครอยากเป็นเกษตรกร ต้องคิดถึงศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ของประธานสมชายแห่งนี้ก่อนเลย ถือได้ว่า เป็นไอดอลด้านการเกษตรเลย ด้วยมีความโดดเด่นหลายอย่าง ไม่ว่าในด้านกิจกรรมการประกอบอาชีพต่างๆ ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆตามบทบาทหน้าที่ศูนย์ฯ ไม่ว่าด้านการผลิต ด้านการตลาด ซึ่งมาจากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญคือ เต็มใจที่จะถ่ายทอดไปยังเกษตรกรคนรุ่นใหม่ทุกคนที่สนใจและมาเรียนรู้” คุณอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่
ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่…ขวาสุดคือ คุณอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง
เลือกปลูกให้เหมาะสม อย่าทำตามคนอื่น..

ความโดดเด่นของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สวนดาวทอง กม.16 แห่งนี้ เดิมนั้นเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างยางพาราเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่มองว่า เป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับชีวิตและอาชีพ จึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบของสวนที่มีหลากหลาย จากเดิมที่มียางพาราในพื้นที่ 100 ไร่ ให้กลายมาเป็นสวนผสมที่ประกอบด้วยพืชหลักอย่าง ส้มโชกุน ส้มที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญของอำเภอเบตง ที่มีจำนวนรวม 1,500 ต้น เสริมด้วยไม้ผลอื่นๆ เช่น  ลองกอง, มังคุด, ทุเรียน, มะพร้าวน้ำหอม และไผ่รวก

ทั้งนี้ ในการตัดสินใจที่จะเลือกพืชชนิดมาปลูกนั้น ต้องมีวิธีการคิด ไม่ใช่ว่าปลูกตามคนอื่น แล้วต้องมีวิธีคิดอย่างไร เกษตรกรเจ้าของสวนดาวทองแห่งนี้ให้มุมมองว่า..

“ที่สำคัญเลยขอให้มองถึงความต้องการของตลาดว่า ตลาดที่เราจะนำผลผลิตไปจำหน่ายนั้น ความต้องการคืออะไร อย่างไร ใช้เรื่องของตลาดนำการผลิตมาตัดสินใจ อย่างที่ผมปลูกส้มโชกุนนี้ เป็นผลมาจากการที่ได้ปรึกษาหารือด้านข้อมูลกับสำนักงานเกษตรอำเภอเบตงว่า หากคิดจะเปลี่ยนจากการปลูกยางพารา ควรมาปลูกพืชชนิดไหนดี จึงตั้งเป็นโจทย์ขึ้นมา และได้มาลงตัวที่ส้มโชกุน”

“แม้จะเป็นพืชดั้งเดิมที่เคยปลูกกันมากในพื้นที่อำเภอเบตง และเคยต้องประสบปัญหาราคาส้ม 3 กิโล 100 บาทมาแล้วมาสัก 10 กว่าปีที่แล้ว แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีตที่อาจไม่ได้มีการวางแผนทั้งการผลิตและการตลาด แต่สำหรับเรา ซึ่งเป็น Young Smart Farmer ที่ได้รับฝึกมาเยอะเลย อย่างการสร้างเรื่องราวหรือ story ของสินค้า ซึ่งได้ถูกนำมาใช้กับส้มโชกุนที่ปลูก จนวันนี้ใครที่มาเบตง จะต้องมากินส้มโชกุน และสามารถจำหน่ายได้ราคาที่น่าพอใจอีกด้วย ด้วยการใช้ช้องทางจัดจำหน่ายทางออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อไปรับประทานได้ทุกพื้นที่” นายสมชาย กล่าว

ส้มโชกุนคุณภาพ
ส้มโชกุนคุณภาพ

นอกจากส้มโชกุนแล้ว อีกหนึ่งพืชที่ คุณสมชาย กำลังมุ่งมั่นขยายพื้นที่ปลูกภายในสวนของตนเอง นั่นคือ กาแฟโรบัสต้า ด้วยกาแฟนั้นถือเป็นอีกพืชดั้งเดิมที่เป็นชื่อเสียงของอำเภอเบตง แต่ปริมาณพื้นที่ปลูกนั้นยังไม่มีมากพอที่จะดำเนินการในเชิงธุรกิจ

“ผมมองว่า ถ้าเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเบตง ไม่เลือกปลูกยางพารา ไม่เลือกปลูกส้มโชกุน แล้วจะมีพืชตัวไหนที่เป็นทางเลือกและสามารถสร้างรายได้ให้บ้าง จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ พบว่า กาแฟโรบัสต้า เป็นพืชขึ้นชื่อของเบตงอยู่แล้ว แต่ยังมีปริมาณไม่มาก และเมื่อมาดูเรื่องผลตอบแทนต่อไร่แล้ว ผมคิดว่าน่าสนใจทีเดียว หากเลือกที่จะไม่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟของสวนเราเอง”

“ตอนนี้ผมจึงขยายพื้นที่ปลูกกาแฟเพิ่มมากขึ้น เพราะผมมองตลาดเชื่อมโยงไปถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผู้คนทั้งจากในประเทศไทย และจากประเทศมาเลเซีย รวมถึงที่อื่นๆ ต้องเข้ามาท่องเที่ยวที่อำเภอเบตงกันเยอะแน่นอน เมื่อสนามบินเบตงสร้างเสร็จสิ้นและเปิดให้บริการ ดังนั้นผมจึงเตรียมกาแฟไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา” คุณสมชาย กล่าว

ส้มโชกุนบรรจุกล่อง พร้อมส่งให้ลูกค้า
ส้มโชกุนบรรจุกล่อง พร้อมส่งให้ลูกค้า
วางแผนให้สอดคล้อง..

ทั้งนี้ สำหรับราคาจำหน่ายส้มโชกุนจากสวนดาวทอง กม.16 นั้น จะเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 100 -160 บาท  โดยขณะนี้ต้นส้มโชกุนแต่ละต้นที่ปลูกนั้นจะให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ต้นละ 100 กิโลกรัม นั่นหมายความว่าในสวนแห่งนี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าต้นละ 10,000 บาทขึ้นไป ซึ่งสิ่งที่สามารถทำให้เกิดรายได้อย่างดีนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นผลมาจากการวางแผนทั้งด้านการบริการจัดการดูแล และการตลาด

“แต่ละช่วงการดูแลต้นส้มนั้นจะมีการวางแผน อย่างในขณะนี้เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้นงานที่สำคัญ คือ ต้องเก็บผลผลิตออกจำหน่ายให้หมด หากมาที่สวนช่วงนี้จะเห็นว่า มีหญ้าขึ้นเต็มเลย เป็นเพราะเราใช้แรงงานทั้งหมดไปกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตแทนที่จะให้มาตัดหญ้า แต่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว นั่นจะมาสู่ขั้นตอนของการจัดการดูแลสวนต่อไป ทุกอย่างจะมีขั้นตอนมีการวางแผนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับช่วงระยะเวลา”

ดังนั้นการเป็นเกษตรกรนั้น เกษตรกรเจ้าของสวนแห่งนี้ บอกว่า ต้องอย่าหยุดนิ่ง ต้องมีการพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสร้างให้เห็นผลสำเร็จ เหมือนกับคนที่ทำอาชีพอื่นมาก่อน แต่เมื่อมาสนใจอาชีพเกษตรกรและเข้ามาประกอบอาชีพ หลายคนจึงประสบความสำเร็จ อย่างเช่น Young Smart Farmer ที่ปัจจุบันมีจำนวน 10,000 กว่าคน ส่วนใหญ่ไม่เคยทำเกษตร เป็นวิศวะ เป็นพนักงานบริษัทมาก่อน แต่เมื่อมาทำแล้วมีการวางแผน มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีการกำหนดเป้าหมาย และเดินหน้าอย่างเต็มที่ภายใต้การทำงานแบบเป็นเครือข่าย เพราะเกษตรกรนั้นทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีการเชื่อมโยง จึงทำให้เกิดความสำเร็จเป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้มากมาย

คุณสมชาย กับผลผลิตส้มโชกุนที่วางขายทางเข้าสวน
คุณสมชาย กับผลผลิตส้มโชกุนที่วางขายทางเข้าสวน
อยู่เบตง แต่ขายที่ไหนก็ได้..

สำหรับในด้านการตลาด เกษตรกรรายนี้มีการจัดระบบการจำหน่ายผลผลิตอย่างไรนั้น มีคำตอบมาจาก ปัจจุบันโดยเฉพาะส้มโชกุน ซึ่งเป็นไม้ผลหลักนั้น ได้กำหนดช่องทางจำหน่ายไว้ 3 ทางคือ

  • หนึ่ง การจำหน่ายแบบออนไลน์ โดยใช้เฟสบุ๊ค:สมชาย เชี่ยวชาญศิลป์ และLine ID:chaibetong1972
  • สอง การจำหน่ายแบบขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้า
  • สาม การจำหน่ายโดยผ่านไปรษณีย์
  • สี่ การมีร้านจำหน่ายเองที่หน้าสวน เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาในพื้นที่อำเภอเบตง

“เรียกว่าในระบบการตลาดของเรามีทั้งเป็นแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งหากเปรียบเทียบสัดส่วนแล้ว ตอนนี้ที่ทำรายได้ให้มากที่สุด คือ ขายแบบออนไลน์ กับแบบขายส่ง สัดส่วนประมาณครึ่งๆ ครับ แต่การทำตลาดออนไลน์นั้นต้องเน้นด้านคุณภาพมากกว่า เพราะลูกค้าที่สั่งซื้อนั้นเขามั่นใจในตัวเรา ว่า มีการผลิตที่ปลอดภัยด้วยระบบ GAP มีการคัดคุณภาพ และอื่นๆ ลูกค้านั่นไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้เลยว่าอะไรอยู่ในกล่องไปรษณีย์ที่มาส่งถึงหน้าบ้าน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ เกษตรกรเจ้าของสวนต้องซื่อสัตย์ก่อน แต่เมื่อไหร่ที่สินค้าไปถึงลูกค้าแล้ว มีคุณภาพ รสชาติดี จะเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก ช่วยในด้านการประชาสัมพันธ์ให้กับสวนส้มของเราไปในตัว ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะทำให้สินค้าเกษตรจากสวนของเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้  มีอยู่อย่างเดียวคือ คุณภาพ เพราะหากทำสินค้าคุณภาพแล้วสามารถจำหน่ายได้หมดสวนอย่างแน่นอน” คุณสมชาย กล่าว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่า ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาดนั้น สำหรับประธานศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ อำเภอเบตง “สมชาย เชี่ยวชาญศิลป์” ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ และที่สำคัญคือ สามารถมาเรียนรู้ได้ที่ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่แห่งนี้ ซึ่งเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่อยากประสบความสำเร็จในเกษตร ยุค 4.0…

ที่เห็นคือศาลาต้อนรับผู้มาเยือน
ที่เห็นคือศาลาต้อนรับผู้มาเยือน

(ขอบคุณ : เกษตรอำเภอเบตง ที่นำไปพบเกษตรกรคือยอดมนุษย์)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated