เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

“เกษตรกรสมาชิกล้วนแต่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต และการพัฒนาด้านการตลาด ที่ไม่ยอมแพ้กับการที่ราคาผลผลิตต้องขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรได้มีการพัฒนาเพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศในระบบออนไลน์ สิ่งเหล่านี้นับเป็นจุดเด่นที่สำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในสายหมอกของอำเภอเบตงแห่งนี้”

คุณอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง กล่าวถึงก้าวการพัฒนาที่นำมาสู่ความสำเร็จของเหล่าสมาชิกเกษตรกรแปลงใหญ่มังคุดในสายหมอกอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มีคุณสุขสวรรค์ วุฒิพิทักษ์ศักดิ์ Young Smart Farmer อำเภอเบตง เป็นประธานฯ โทร. 08-4900-6881

สำหรับเหล่าสมาชิกแปลงใหญ่มังคุดในสายหมอกในพื้นที่ใต้สุดแดนสยามแห่งนี้ ประกอบด้วยเกษตรกรชาวสวนมังคุดหัวก้าวหน้า 44 คน รวมพื้นที่ 250 ไร่ ที่มองเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีการบริการจัดการสวนสมัยใหม่เข้ามาใช้ อีกทั้งยังเน้นรูปแบบการเกษตรที่สร้างความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภคด้วยการดำเนินในแนวทางของเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการสร้างผลผลิตที่ปลอดสารพิษ

คุณอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง กับคุณสุขสวรรค์ วุฒิพิทักษ์ศักดิ์ เกษตรกรเจ้าของสวนมังคุด
คุณอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง กับคุณสุขสวรรค์ วุฒิพิทักษ์ศักดิ์ เกษตรกรเจ้าของสวนมังคุด
อร่อย ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ   

“อร่อย ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” คือสโลแกนที่ทางแปลงใหญ่มังคุดแห่งนี้ได้ยึดมั่น จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์และเครื่องหมายการันตีในการสร้างคุณภาพของผลผลิต ที่มาจากต้นมังคุดในสวนที่ปลูกเรียงรายไปตามเนินเขาสูงริมชายแดน โดยในช่วงเช้าก่อน 9 โมง จะปกคลุมไปด้วยสายหมอกสีขาวตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมทำให้เกิดผลผลิตคุณภาพ

จากสภาพอากาศและการจัดการดูแลอย่างเป็นระบบภายใต้แนวทางการของเกษตรอินทรีย์ที่เน้นทุกอย่างจากธรรมชาติ เช่นการใช้ปุ๋ยคอกทดแทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น รวมถึงสภาพพื้นที่และอากาศของเบตง จึงทำให้ผลมังคุดที่มีลักษณะเนื้อแห้ง เนื้อไม่เปียก ถึงแม้จะเก็บสุกจนขั้วแดงแล้ว ยังสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน และเพื่อให้มีความหวานอร่อยตามธรรมชาติ จึงจะเน้นการเก็บผลสุกที่เป็นสีม่วง ขั้วเขียว เท่านั้น

ด้วยความโดดเด่นอันสืบเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการสร้างความแตกต่างนี้เองจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “มังคุดในสายหมอก”

“แม้มังคุดเบตงนั้น ผิวอาจไม่สวย แต่รับรองว่า อร่อย ทานแล้วปลอดภัย 100% ครับ”

“ตลอดช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาผลผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษจากการใช้ยาเคมีฉีดพ่น จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สมาชิกทุกคนร่วมกันยึดเป็นหลักสำคัญ จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ คุณสุขสวรรค์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้สวนมังคุดที่ปลูกอยู่นั้นจะไม่การใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น เน้นมาใช้สารชีวภัณฑ์ อย่าง การป้องกันการระบาดของเพลี้ยไฟแดงและไรแดง จะเน้นการใช้เชื้อราเมธาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอร์เรียทดแทน

เน้นขายออนไลน์ ตรวจสอบย้อนกลับได้
เน้นขายออนไลน์ ตรวจสอบย้อนกลับได้
เน้นรวมกลุ่มผลิต ช่วยลดต้นทุน

เกษตรกรผู้นี้ได้ขยายความถึงเทคนิคที่ทำว่า อย่างการใช้เชื้อราบิเวอร์เรียนั้นจะเริ่มฉีดพ่นครั้งแรกตั้งแต่ผลมังคุดอยู่ในระยะที่เรียกว่า ปากนกแก้ว และครั้งต่อมา เมื่ออยู่ในช่วงระยะที่เรียกว่า ไข่ปลา และสุดท้ายครั้งที่ 3 ในระยะที่ผลมังคุดมีขนาดเท่าลูกมะนาว โดยใช้เชื้อราดังกล่าว จำนวน 1,000 ลิตร ต่อต้นมังคุดในแปลงปลูก 165 ต้น

“จากที่ได้ใช้มาเป็นเวลา 2 ปี สามารถช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟและไรแดงได้ดีเป็นที่น่าพอใจ”

นอกจากนี้ชาวสวนมังคุดแปลงใหญ่แห่งนี้ยังจะเน้นการใช้ปุ๋ยคอก เป็นแหล่งธาตุอาหารให้กับมังคุดที่ปลูก

“อย่างสวนของผมจะเน้นการใช้ปุ๋ยคอกจากขี้วัวเป็นหลัก โดยใส่หลังจากเก็บผลผลิตแล้ว โดย 1 ต้นจะใช้ 1 กระสอบ ใส่รอบทรงพุ่ม และอีกเทคนิคได้แก่ การใส่ปุ๋ยสั่งตัดด้วยการสั่งแม่ปุ๋ยเข้ามาและทำการผลิต โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยจากสำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ”

ทั้งนี้ ประธานแปลงใหญ่ฯ บอกว่า เพื่อลดต้นทุนการผลิตในด้านที่เกี่ยวกับปุ๋ยนี้ จะใช้วิธีรวมกันสั่งรวมกันผลิต ให้ได้ตามจำนวน เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองราคา และปุ๋ยที่ใช้นี้จะจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาต้นทุน จากสิ่งที่ปฏิบัติดังกล่าวได้ช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตของสมาชิกต่ำลงมาก

กำลังสนทนาเรื่องมังคุดคุณภาพและการรวมกลุ่มลดต้นทุน
กำลังสนทนาเรื่องมังคุดคุณภาพและการรวมกลุ่มลดต้นทุน
ใช้ระบบออนไลน์ สร้างตลาด

อีกหนึ่งความโดดเด่นของแปลงใหญ่ฯแห่งนี้คือ ระบบการจัดการด้านตลาด โดยผลผลิตมังคุดจะเริ่มนำออกจำหน่ายสู่ตลาดได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคมจนถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะเน้นการจำหน่ายในระบบออนไลน์เป็นหลัก

“มังคุดที่จำหน่ายจะมีการคัดเกรดอย่างดี แล้วนำมาบรรจุลงกล่องกระดาษเพื่อส่งให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อเข้ามา โดยกล่องหนึ่งจะบรรจุประมาณ 10 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากล่องละ 500 บาท รวมค่าขนส่ง โดยในราคานี้จะเป็นต้นทุนค่าขนส่งกล่องละ 110 บาท และค่ากล่องอีก 40 บาท ”

เฉลี่ยแล้ว เกษตรกรแปลงใหญ่มังคุดในสายหมอกอำเภอเบตง จะสามารถจำหน่ายได้ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ดีกว่าขายให้กับพ่อค้าคนกลาง

“ได้เริ่มทำตลาดด้วยระบบออนไลน์เมื่อต้นปี 2561 จากที่ได้เน้นด้านคุณภาพเป็นหลัก โดยร้อยละ 99 ของมังคุดในกล่องสามารถกินได้ทุกลูก จากตรงนี้จึงทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศเป็นอย่างดี” ประธานแปลงใหญ่ฯกล่าว

ทั้งนี้ การนำเสนอต่อลูกค้านั้นจะเน้นการเผยแพร่และแนะนำผลผลิตมังคุดผ่านทาง Facebook : มังคุดทุเรียนเบตง-MDbetong โดยจะมีสมาชิกทำหน้าที่เป็นแอดมิน

“โดยหนึ่งในสิ่งสำคัญที่เน้นให้บริการแก่ลูกค้า คือ การประกันคุณภาพ โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า มังคุดที่ได้รับนั้นมาจากสวนของเกษตรกรสมาชิกคนไหน เพราะทุกกล่องจะติด QR Code ไว้เพื่อให้ลูกค้าได้รับทราบข้อมูลว่ามาจากแปลงผลิตไหน และเก็บเมื่อวันที่เท่าไร ดังนั้นกล่องไหนที่ส่งให้กับลูกค้า หากมีปัญหาสามารถสแกน QR Code  แล้วแจ้งกลับมา จะมีการตรวจสอบเพื่อหาข้อผิดพลาด และดำเนินการจัดส่งมังคุดกล่องใหม่ให้กับลูกค้า”

“การดำเนินการแบบนี้ ปรากฏว่าเป็นที่พึ่งพอใจของลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้หมด เป็นการประกันคุณภาพที่เห็นผล”

ทั้งนี้ในการส่งมังคุดให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อในระบบออนไลน์นั้น ประธานแปลงใหญ่ฯบอกว่า ได้มีการวางระบบการขนส่งไว้เป็นอย่างดี โดยจังหวัดไกลๆอย่าง เชียงใหม่ สินค้าจะถึงมือลูกค้าไม่เกิน 4 วัน ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร สามารถรับของได้ภายใน 3 วัน

“แต่ลูกค้าก็สามารถสั่งได้ว่า ต้องการมังคุดเราถึงมือลูกค้าวันไหน เรามีบริการให้ด้วย ขอเพียงให้แจ้งมาเท่านั้น”

ในวันนี้การจำหน่ายมังคุดในระบบออนไลน์ของเกษตรกรแปลงใหญ่มังคุดในสายหมอกอำเภอเบตง อยู่ในระดับที่เรียกว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนทำให้ผลผลิตมังคุดมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการเลยที่เดียว

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรแห่งใต้สุดแดนสยามภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาของสำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีความโดดเด่น สมกับเป็นเกษตรกร คือยอดมนุษย์ …

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated