กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งพัฒนา Young Smart Farmer สร้างกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ จัดค่ายนวัตกรรมสร้างสรรค์ สำหรับธุรกิจเกษตรอาหารใหม่ ยุคประเทศไทย 4.0 ถ่ายทอดประสบการณ์ด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสู่การต่อยอดเป็นผู้ประกอบการ Startup ตามนโยบายรัฐบาล

วันที่ 26 เมษายน 2562 นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมค่ายนวัตกรรมสร้างสรรค์ สำหรับธุรกิจเกษตรอาหารใหม่ ยุคประเทศไทย 4.0 (Creative Innovation Camp for Agri-Food Startup under Thailand 4.0) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการพัฒนาต่อยอดให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็น Young Smart Farmer โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ตลอดจนเกษตรกรและผู้ประกอบการมืออาชีพ ที่ร่วมกันมุ่งพัฒนา Young Smart Farmer สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ และร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และถ่ายทอดประสบการณ์ด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การต่อยอดการเป็นผู้ประกอบการ Startup ตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลที่จะก้าวไปสู่กลุ่มนักธุรกิจมืออาชีพในภาคการเกษตรและอาหารในอนาคต

หนุน Young Smart Farmer สู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอาหารใหม่

โดยงานดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้ว 5 ครั้ง แบ่งเป็นหัวข้อ Creative Innovation Camp จำนวน 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวม 60 ราย 41 ธุรกิจ และหัวข้อ Make it Happen Camp จำนวน 4 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวม 225 ราย 167 ธุรกิจ สำหรับกิจกรรมค่ายนวัตกรรมสร้างสรรค์ฯ ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวม 42 ราย จำนวน 30 ธุรกิจ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้และฝึกทักษะเกี่ยวกับการทำแผนธุรกิจเกษตร เช่น Consumer Insight to Success, Who is your target customer, Value Proposition Canvas, Business Model Canvas, How to Pitch & Presentation, Pitching

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วย “โมเดลประเทศไทย 4.0” ที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value – Based Economy) คือ การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบตามองค์ประกอบสำคัญโดยเฉพาะด้านการเกษตรและด้านอาหารของไทย จากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องมีรายได้ที่ดีขึ้น มีความยั่งยืน และเป็นเกษตรกรแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลลูกหลานของเกษตรกร โดยการพัฒนาและสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรยุคใหม่ ผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชน โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ที่จบภาคการเกษตรมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเกษตรทั้งระบบ เพื่อความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร การพึ่งพาตนเองและการแข่งขันทางการค้าในอนาคต สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรเกิดการพัฒนา โดยใช้การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นเครื่องมือและกลไกการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ความสามารถของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจาก “ทำมากได้น้อย” เป็น “ทำน้อยได้มาก” สอดคล้องกับโมเดล “Thailand 4.0” เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ ที่มีการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) รวมทั้งการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ในการวิจัยและพัฒนาแล้วต่อยอดเป็นกลุ่มเกษตรอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) ซึ่งเป็นการสร้าง New Startups ด้านเทคโนโลยีการเกษตร เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาสู่วิธีการปฏิบัติแบบใหม่นี้ จะทำให้ภาคการเกษตรเกิดความก้าวหน้าและขยายวงการพัฒนาไปสู่เกษตรกรรายอื่น

หนุน Young Smart Farmer สู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอาหารใหม่“กรมฯ ได้ดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ซึ่งมีอายุระหว่าง 17 – 45 ปีให้เป็น Young Smart Farmer มาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาให้มีความสามารถในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดสินค้าเกษตร จนเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น และเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง จนทำให้ชุมชนเติบโตทางเศรษฐกิจจากฐานการเกษตรได้ ปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการ 12,459 ราย ผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็น Young Smart Farmer 10,415 ราย ทั่วประเทศ”

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated