ที่สวนละออการ์เด้น https://goo.gl/FuKSr3 19 หมู่ 8 ต.แม่กาษา อ.แม่สอด จ.ตาก 63110 ทีมข่าว “เกษตรก้าวไกล” ได้พบกับทีมงานคนรุ่นใหม่ที่ดูแลบริหารจัดการสวน หนึ่งในนั้นก็คือ คุณอาคม ศรีราช หรือ “คุณออร์ก้า” เรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบอัจฉริยะของการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ และที่นำเสนอผ่านคลิปนี้ คือการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือการปลูกพืชไร้ดินนั่นเอง

คุณออร์ก้า กับทีมงานกำลังปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ระบบไหลฟิลม์
คุณออร์ก้า กับทีมงานกำลังปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ระบบไหลฟิลม์
คุณออร์ก้า กับทีมงาน กำลังปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ระบบไหลฟิลม์
ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ระบบไหลฟิลม์…มีหลายจุด

ที่สวนละออการ์เด้น มีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ 2 ระบบ (การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์โดยทั่วไปมี 5 ระบบ) ซึ่งเป็นระบบที่นิยมทั่วไป คือระบบไหลฟิลม์ NFT (Nutrient Film Technique) และระบบน้ำลึก DRFT (Dynamic Root Floating Technique) ทั้งสองระบบมีข้อดีข้อเสียหรือแตกต่างกันอย่างไร เราจะมาคุยกับคุณออร์ก้า กันครับ

ระบบน้ำลึก DRFT (Dynamic Root Floating Technique)
ระบบน้ำลึก DRFT (Dynamic Root Floating Technique)
จากประสบการณ์ของคุณออร์การ์ ทั้ง 2 ระบบ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร…ถ้าจะแนะนำเกษตรกรคิดว่าระบบไหนเหมาะสมกว่าครับ

“สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ สภาพแวดล้อมที่เราจะปลูกพืชครับ เป็นพื้นที่อย่างไร ผักที่ปลูกต้องการอากาศแบบไหน เราก็ต้องเลือกระบบที่ใกล้เคียงกับสภาพพื้นที่ครับ เช่น ระบบไหลฟิล์ม ข้อดี คือ ผักโตดี ใช้น้ำน้อย ใช้ปุ๋ยน้อย ต้นทุนต่อต้นต่ำกว่า ส่วนข้อเสียคือต้องเป็นที่เย็นและระบบไฟฟ้าต้องห้ามขาด หรือมีระบบสำรองไฟ เพราะถ้าไฟดับน้ำไม่ไหลพืชก็ตายครับ ส่วนระบบน้ำลึก ข้อดี ผักก็เติบโตได้ดีแต่น้อยกว่าระบบฟิล์มแต่ไม่ได้ต่างกันมาก ไฟดับในช่วงระยะไม่นาน 3-4 ชั่วโมง ผักไม่เป็นไร ทนต่อความร้อนได้ดีกว่าระบบฟิล์ม ข้อเสียคือใช้น้ำเยอะขึ้น ใช้ปุ๋ยมากขึ้น จึงทำให้ต้นทุนต่อต้นสูงขึ้น ซึ่งโดยรวมผักที่ได้ก็คุณภาพไม่ได้ต่างกันมาก จะเลือกปลูกระบบไหนก็เอาคุณสมบัติของระบบไปดูตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมครับ”

มองในแง่การลงทุนสูงต่ำกว่ากันอย่างไร และพืชผักที่ได้คุณภาพเหมือนกันหรือไม่ครับ

“การลงทุนสำหรับมือใหม่แนะนำให้เริ่มจากง่ายๆก่อน เริ่มจากการลองในระบบน้ำลึก ใช้เป็นจำพวกท่อพีวีซีก่อนครับ หาซื้อง่ายลองปลูกจากปลูกไว้กินก่อน เรียนรู้เรื่องการเพราะเมล็ด อนุบาล ดูแล ป้องกันโรคแมลงจากการใช้พืชสมุนไพรต่างๆ เรียนรู้ให้เข้าใจก่อนขยายการปลูกครับ เพราะการลงทุนค่อนข้างแพง สำหรับการทำสวนใหญ่ๆ เพราะต้องใช้โรงเรือนที่มีหลังคา โต๊ะปลูก ถ้าร้อนมากก็ต้องมีระบบน้ำเย็น มีระบบสำรองไฟ ระบบระบายอากาศ ห้องเย็น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านั้นต้องเกิดขึ้นหลังจากการที่เราเข้าใจสิ่งที่เราทำเป็นอย่างดีเสียก่อนครับ”

หากมีเกษตรกรหรือผู้สนใจทางคุณออร์ก้า พอจะแบ่งปันความรู้ได้ไหม และติดต่อเบอร์อะไรครับ

“คือที่สวนละออ การ์เด้น เราเป็นสวนเปิดครับ เราทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมเชิงท่องเที่ยวครบวงจร เกษตรกรหรือผู้สนใจ สามารถติดต่อเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลาครับ ถ้ามาเป็นกลุ่มคณะเช่นโรงเรียนหรือชุมชน อยากให้นัดหมายมาก่อนครับ เราจะมีทีมงานที่พร้อมให้ความรู้และถ้าจะทำเป็นอาชีพจริงงๆ เราก็พร้อมให้ลงมือปฏิบัติจริง หรือติดต่อสอบถามมาทางผมก่อนก็ได้ที่ โทร. 082 2161675 ยินดีครับ”

ถังสารละลาย...1 ถัง/1 โต๊ะ (ที่เห็นนี้คือระบบไหลฟิลม์)
ถังสารละลาย…1 ถัง ต่อ 1 โต๊ะ (ที่เห็นนี้คือระบบไหลฟิลม์)
ถังสารละลาย และปั้มน้ำ...มองด้านข้างจะเห็นชัดเจน
ถังสารละลาย และปั้มน้ำ…มองด้านข้างจะเห็นชัดเจน (ระบบน้ำลึก…ปลูกแนวตั้ง)
หมายเหตุ (ข้อมูลวิชาการ)
  1. ระบบไหลฟิลม์ NFT (Nutrient Film Technique) คือ การปลูกแบบระบบให้สารละลายธาตุอาหารพืชไหลผ่านรากพืชเป็นแผ่นบางๆ เหมือนแผ่นฟิล์มบนรางปลูกอย่างต่อเนื่อง (หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร) ในลำรางปลูกพืชกว้างตั้งแต่ 5-35 เซนติเมตร ขึ้นกับชนิดของพืชที่ปลูก ลำรางสูงประมาณ 5 เซนติเมตร ความยาวของรางตั้งแต่ 5-20 เมตร แต่โดยทั่วไปไม่ควรเกิน 10 เมตร เพราะจะทำให้เกิดความแตกต่างของปริมาณออกซิเจนระหว่างหัวและท้ายรางได้
  2. ระบบน้ำลึก DFT (Deep Flow Technique) คือ เป็นระบบที่ปลูกพืชโดยรากแช่อยู่ในสารละลายลึกประมาณ 15- 20 เซนติเมตร โดยจะมีการปลูกพืชบนแผ่นโฟมหรือวัสดุที่ลอยน้ำ ได้เพื่อยึดลำต้นแต่จะปล่อยให้รากเป็นอิสระในน้ำ ระบบนี้ไม่มีความลาดเอียง เป็นระบบที่มีการหมุนเวียนสารละลายโดยการใช้ปั้มดูดสารละลายจากถังพักขึ้นมาใช้ใหม่ในระบบ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับระบบน้ำที่ใช้ในการผลิตผัก ระบบนี้อาจมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบไฮโดรโพนิกส์ลอยน้ำ (Floating Hydroponic Systems)

(ข้อมูลเพิ่มเติมในระบบอื่น ๆ (อีก 3 ระบบ) ค้นคว้าได้จากเว็บไซต์ด้านการเกษตร)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated