จากเสื่อกระจูดผืนเดียว พัฒนาสู่ตลาดโลก...กระจูดวรรณี(Varni) พัทลุง ทำได้
จากเสื่อกระจูดผืนเดียว พัฒนาสู่ตลาดโลก...กระจูดวรรณี(Varni) พัทลุง ทำได้

เรื่อง : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

ข่าว เกษตรก้าวไกล/กรมส่งเสริมการเกษตรวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี(Varni)  ตั้งอยู่เลขที่ 152 หมู่ 10 ตำบลพนางตุง  อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โทร. 074-610415 นับเป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ สร้างความมั่นคงในอาชีพได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้คัดเลือกให้นำมาจำหน่ายในงาน “เกษตรสร้างชาติ” ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน พ.ศ. 2561 ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร

นางวรรณี เซ่งฮวด (คนขวาสุด) นำทีมสร้างสรรค์หัตถกรรมกระจูด
นางวรรณี เซ่งฮวด (คนขวาสุด) นำทีมสร้างสรรค์หัตถกรรมกระจูด

วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี(Varni) ก่อตั้งขึ้นโดย นางวรรณี เซ่งฮวด ภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุนและสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ได้สร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์จากกระจูด ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาบรรพบุรุษ เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการนำวัสดุอื่น ๆ จนได้ผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม แปลกใหม่ และมีคุณภาพ นำมาสู่เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กระจูด และสร้างงานให้คนในชุมชนกว่า 200 คน นำรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่าปีละ 4 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระจูดนั้น เป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” เป็นวัชพืชที่ชอบขึ้นในที่ๆมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งพื้นที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เป็นหนึ่งในแหล่งที่มีต้นกระจูดขึ้นอยู่มากมาย เนื่องจากต้นกระจูดเมื่อนำมาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์จะมีความคงทน จึงทำให้ชาวบ้านในจังหวัดพัทลุงนิยมนำมาสานเป็นเสื่อและกระสอบใส่ข้าวสารและน้ำตาล เพื่อเป็นบรรณาการมานานกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

จากเสื่อกระจูดผืนเดียว พัฒนาสู่ตลาดโลก...กระจูดวรรณี(Varni) พัทลุง ทำได้

วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี(Varni) โดย นางวรรณี เซ่งฮวด เป็นหนึ่งในคนจำนวนมากของพัทลุงที่ได้หยิบยกพืชน้ำพื้นบ้าน ต้นกระจูดมาสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆออกจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่อง และต่อมาเมื่อบุตรชาย “นัท-มนัทพงศ์ เซ่งฮวด” ได้เรียนจบการศึกษา ระดับปริญญาโทจาก คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาได้กลับมาบ้านเพื่อสานต่องานของแม่ที่เริ่มต้นไว้

“ทำมานานประมาณ 15 ปีแล้ว เริ่มแรกนั้นทำอาชีพสานเสื่อกระจูดก่อน และต่อมาได้ชวนเพื่อนที่สานเสื่อกระจูดด้วยกันมารวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มหัตถกรรมกระจูดก่อน ที่จะพัฒนามาเป็นวิสาหกิจชุมชนในวันนี้” คุณวรรณี เล่าถึงจุดเริ่มต้น

คุณ นัท-มนัทพงศ์ เซ่งฮวด
คุณ นัท-มนัทพงศ์ เซ่งฮวด

ความเปลี่ยนได้เกิดขึ้นเมื่อ คุณนัท คนหนุ่มรุ่นไฟที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆได้พัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์กระจูดอย่างมากมาย ทั้งรูปแบบลวดลายที่ทันสมัย สร้างผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน โดยกำหนดเป็นคอลเล็กชั่น รวมถึงการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับลูกค้า นอจากนี้ยังมีการจัดทำแคตตาล๊อกให้ลูกค้าได้เลือกรูปแบบของสินค้าและสีที่ต้องการก้อนผลิต

จากความมุ่งมั่นพัฒนาดังกล่าวได้ส่งผลให้ในปัจจุบันสามารถนำผลิตภัณฑ์จากกระจูด ไม่ว่า กระเป๋าแบบต่าง ๆ ตะกร้าใส่ของ ถังใส่เสื้อผ้า และอื่นๆอีกมากมาย เข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น สยามพารากอน, คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เป็นต้น รวมถึงยังส่งผลไปขายยังตลาดในต่างประเทศอาทิ จีน ญี่ปุ่น และทางประเทศในยุโรปอีกด้วย

จากเสื่อกระจูดผืนเดียว พัฒนาสู่ตลาดโลก...กระจูดวรรณี(Varni) พัทลุง ทำได้

“เราได้สร้างจุดเด่นหลายๆอย่างให้กับผลิตภัณฑ์กระจูดที่ผลิต อย่างกระเป๋ากระจูดของเราสามารถพับได้โดยไม่หักเสียหาย อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการอบความร้อนเข้ามาช่วย จึงทำให้เกิดความคงทนอย่างมาก ซึ่งจุดนี้เป็นอีกสิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้า”

“สิ่งสำคัญในการผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย สิ่งที่ต้องคงอยู่คือความโดดเด่นของภูมปัญญาท้องถิ่นในสินค้า จากนั้นก็เอาเรื่องของการออกแบบดีไซน์เข้าไปใส่ ซึ่งตัวของกระจูดนั้นสามารถที่จะพัฒนาให้มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมได้หลายอย่าง ซึ่งในอดีต อาจนำมาทอเป็นเสื่ออย่างเดียว แต่เมื่อนำดีไซน์เข้าไปใส่ ออกแบบใหม่ๆ เราก็จะได้ผลิตภัณฑ์อื่นขึ้นมาเช่น เป็นฝ้าเพดาน เป็นวอลล์อาร์ตแต่งผนัง หรือเป็นโต๊ะเก้าอี้ได้ ซึ่งเราดูถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าว่าต้องการอะไร ประมาณไหน แล้วเราก็ออกแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของเขา” คุณนัท เล่าให้ฟัง

สินค้ากระจูดที่มาจากฝีมือชาวบ้าน แต่มีการพัฒนารูปแบบ สอดใส่สีสัน มีการออกแบบอย่างลงตัว จะมีการสาธิตให้ผู้สนใจที่เดินทางมาเยี่ยมชมกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดฯ ได้ในทุกวัน อีกทั้งยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากร้านค้าชุมชนที่มีการออกแบบให้เหมือนห้องแสดงสินค้าหรือโชว์รูม มีการตกแต่งอย่างทันสมัย สวยงาม สามารถเลือกหาผลิตภัณฑ์กันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลที่ตอบรับนั้นจากคำบอกเล่าของผู้เป็นเจ้าของ บอกว่าจะมีผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมทุกวัน

“สิ่งที่เรามองว่า สำคัญอันดับแรกคือ เรื่องการตลาด จึงได้มีการมุ่งการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการทำตลาดนั้นเราจะมองว่า เขาต้องการอะไร อย่างตลาดต่างประเทศ ส่วนมากจะชอบสินค้าแฮนด์เมด และงานออกแบบดีไซน์ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ผลิตภัณฑ์กระจูดของเราที่จะจำหน่ายให้กับชาวต่างชาตินั้นจึงเน้นที่จะนำภูมิปัญญาบวกกับดีไซด์ของเรา รวมถึงนำเอาเรื่องอีโคดีไซด์ ที่เป็นออกแบบเชิงธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบวกเข้าไปด้วย”

“อย่างลูกค้าซื้อกระเป๋าสะพายของเราไปใช้ใบหนึ่ง เมื่อเบื่อไม่อยากใช้แล้ว เราจะมีข้อแนะนำไปด้วยว่า สามารถนำกกระเป๋าใบนั้นไปปลูกต้นไม้ได้ และตัวกระเป๋าก็ทำมาจากพืชสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าชาวต่างประเทศได้”

จากเสื่อกระจูดผืนเดียว พัฒนาสู่ตลาดโลก...กระจูดวรรณี(Varni) พัทลุง ทำได้

“แล้วลูกค้าชาวต่างประเทศจะรู้จักผลิตภัณฑ์สินค้าของเราได้อย่างไรนั้น เราทำให้พวกเขารู้โดยผ่านโลกออนไลน์ มีทั้งการทำเว๊บไซด์ ทำข้อมูลลงในเฟซบุ๊ค เผยแพร่ผ่านทางอินสตราแกรม ทางไลน์ รวมถึงการไปออกร้านจำหน่ายในงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วย” คุณนัท กล่าว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปบนอาชีพการทำสินค้าของวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี(Varni) ยังมีการต่อยอดเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่ม ด้วยการเพิ่มช่องทางเชื่อมโยงเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และที่พักแบบโฮมสเตย์

“ตรงบริเวณที่เราใช้เป็นที่ทำการกลุ่มฯ ในปัจจุบัน เดิมนั้นเป็นป่ายางพารา โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนของสำนักงาน ส่วนของการผลิต และยังมีพื้นที่เหลือ เราจึงจัดสรรพื้นที่จัดเป็นสวนเล็กๆ ที่มีการจำลองสภาพพื้นที่ของป่าพรุที่ต้นกระจูดชอบขึ้นเอามาไว้ในนี้ เพื่อให้ลูกค้าที่มาเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้เห็นว่า กระจูดตามธรรมชาติเป็นอย่างไร พร้อมจัดสร้างที่พักขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชม”

บ้านพักแบบโฮมสเตย์ ไว้รองรับนักท่องเที่ยว
บ้านพักแบบโฮมสเตย์ ไว้รองรับนักท่องเที่ยว

“ผู้สนใจที่เดินทางมา สามารถมาพักที่นี่ และเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของกระจูด เรียนรู้การสานกระจูดและหัดทำด้วยตัวเอง ร่วมกับสมาชิกของเราได้เลย และยังได้ชิ้นงานที่เป็นฝีมือของตนเองกลับบ้านด้วย” คุณนัท กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้ คือ ก้าวแห่งการพัฒนาที่เกิดขึ้น ณ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี(Varni)  อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ที่ในวันนี้ได้ดังกระฉูดไปทั่วโลกอย่างน่าชื่นชม….

นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้หัตถกรรมเสื่อกระจูด
นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้หัตถกรรมเสื่อกระจูด
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated