เตือนชาวนา 8 จังหวัดภาคตะวันตก เฝ้าระวังหนอนห่อใบข้าวระบาด-ทำลายผลผลิตได้
ชาวนา 8 จังหวัดภาคตะวันตก โปรดระวังหนอนห่อใบข้าวระบาด-ทำลายผลผลิตได้

นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี (ศทอ.สุพรรณบุรี) เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 โดย ศทอ.สุพรรณบุรี ได้ทำการติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันตก พบว่าบางพื้นที่เกษตรกรปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 40-60 วัน และบางพื้นที่กำลังเริ่มต้นที่จะปลูกข้าว ซึ่งขณะนี้ในหลายพื้นที่มีฝนตกชุก จึงอยากเตือนให้เกษตรกรเฝ้าระวังเรื่องการระบาดของหนอนห่อใบข้าว เนื่องจากหนอนห่อใบข้าวจะกินใบข้าว โดยแทะผิวใบส่วนที่เป็นสีเขียว บริเวณใบที่ถูกทำลายจะเป็นทางขาวขนานกับเส้นกลางใบ ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง ถ้าระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธง ทำให้เมล็ดข้าวลีบ ผลผลิตลดลง ทั้งนี้ พบการระบาดของหนอนห่อใบข้าวในนาข้าวเขตชลประทาน โดยเฉพาะแปลงนาที่ใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก

หนอนห่อใบข้าว
หนอนห่อใบข้าว

หนอนห่อใบข้าว ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนปีกสีน้ำตาลเหลือง ตรงกลางปีกมีสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ เพศเมียวางไข่เวลากลางคืน ประมาณ 300 ฟอง บนใบข้าวขนานกับเส้นกลางใบ เป็นกลุ่มๆ ละ 10-12 ฟอง มองเห็นด้วยตาเปล่า ระยะไข่ 4-6 วัน ระยะตัวหนอน 5-6 ระยะ หนอนระยะที่ 5 เป็นวัยที่กินใบข้าวได้มากที่สุด เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้รีบดำเนินการป้องกันกำจัดโดยด่วน อย่างไรก็ตาม หนอนห่อใบข้าวจะระบาดรุนแรงในแปลงที่มีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงๆ ดังนั้น แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือการใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสมหรือควรงดการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ควรมีการกำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ของหนอนห่อใบข้าวในพืชอาศัย

ที่สำคัญหนอนห่อใบข้าวมีศัตรูธรรมชาติ จำพวกตัวห้ำตัวเบียน ที่คอยควบคุมอยู่หลายชนิด หากพบหนอนห่อใบข้าวเพียงเล็กน้อย จึงไม่ควรใช้สารเคมีฉีดพ่น เพราะจะทำให้ศัตรูธรรมชาติตาย ทำให้หนอนระบาดรุนแรงมากขึ้น เกษตรกรสามารถใช้วิธีกล โดยใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนห่อใบข้าว หรือตัดใบข้าวที่งามแล้วเฝือใบทิ้งเพื่อลดการระบาด หากพบการทำลายของหนอนห่อใบข้าวระยะแรกๆ ให้ใช้สารสกัดสะเดาฉีดพ่น เฉพาะบริเวณที่พบการทำลายเท่านั้นอย่างต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง ทุก 5 วันในช่วงเย็น แต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ไม่ควรใช้สารเคมีฆ่าแมลงชนิดเม็ดและสารกลุ่มไพรีทอยด์สังเคราะห์ หรือสารผสมกลุ่มไพรีทอยด์สังเคราะห์ ในนาข้าวระยะหลังหว่าน 40 วัน เพราะศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลาย แนะนำให้ใช้สารแมลงประเภทดูดซึม เช่น เบนซัลแทป (แบนคอล 50% ดับบิวพี) อัตรา 10-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร, พีโปรนิล (แอสเซนต์ 5% เอสซี) อัตรา 30-50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร, คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80-110 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร โดยฉีดพ่นเฉพาะบริเวณที่มีใบถูกทำลายจนเห็นเป็นรอยขาว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated