นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ (คนกลาง) นายกสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย หรือ World Poultry Science Association (WPSA) Thailand Branch ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัตว์ปีกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 11 หรือ 11th Asia Pacific Poultry Conference – APPC 2018 Bangkok ระหว่างวันที่ 25 – 27 มีนาคม 2561 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ จากความโดดเด่นและการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยที่ก้าวสู่ระดับสากลมานานหลายทศวรรษ เพื่อให้เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมได้เข้าถึงข้อมูลด้านวิวัฒนาการในการผลิต และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีกต่อไป

การประชุมสัตว์ปีกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 11 หรือ 11th Asia Pacific Poultry Conference – APPC 2018 Bangkok
การประชุมสัตว์ปีกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 11 หรือ 11th Asia Pacific Poultry Conference – APPC 2018 Bangkok

 “ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมสัตว์ปีกที่เข้มแข็ง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของเกษตรกร ผู้ประกอบการ สมาคมด้านสัตว์ปีกและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก แสดงให้เห็นว่ากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทยได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานโลก จึงสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีความเข้มงวดด้านความปลอดภัยทางอาหารในระดับสูงทั้งยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน รวมถึงส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆในภูมิภาคอื่น นำเงินเข้าประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี” น.สพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า

จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในระดับโลก อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศต่างๆจะเชื่อและมั่นใจในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของไทยมากเพียงใด แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อไก่และไข่ไก่ ทั้งในประเด็นที่อ้างว่าไก่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโต และการกินไก่มากทำให้เด็กเป็นหนุ่มสาวเร็ว ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ มีผลงานวิจัย ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยและต่างประเทศมากมายที่ชี้ชัดว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อไก่ ในเรื่องของการเพิ่มขึ้นของระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดจากการบริโภคไข่ไก่ก็มีผลพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าไม่เป็นเช่นนั้น 

“เนื้อไก่และไขไก่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย ร่างกายนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย จึงขอให้มั่นใจในมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมไก่ไทยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออก” น.สพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

สำหรับงาน APPC 2018 ในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,200 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ สัตวบาล นักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรในภาคปศุสัตว์จากทั่วโลก การประชุมประกอบด้วยการบรรยายหลัก 8 หัวข้อ และการบรรยายทั่วไปอีก 14 หัวข้อจากวิทยากร ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งแบบโปสเตอร์และบรรยายปากเปล่าอีกกว่า 130 เรื่อง

บรรยากาศภายในการประชุม
บรรยากาศภายในการประชุม

การประชุมดังกล่าว มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้และข้อมูลล่าสุดในแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์ปีกให้มีความยั่งยืน ปลอดภัยและเพียงพอต่อการบริโภค เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับพลเมืองโลกที่เพิ่มขึ้น  อาทิเช่น การพัฒนาสายพันธ์และอาหารสัตว์ปีกให้มีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น โดยไม่ต้องใช้ฮอร์โมน การจัดการด้านการป้องกันโรคทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น หาวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้สัตว์เครียดและป่วย ด้วยการบริหารจัดการ เรื่องสุขภาวะของลำไส้ให้แข็งแรงมีภูมิคุ้มกันที่ดี ตลอดจนเทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาการในระดับเซลล์สามารถทำให้เข้าใจกลไกของเชื่อโรคที่จะทำอันตรายต่อสัตว์ปีก

สมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย เป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสพการณ์ในด้านวิชาการผลิตสัตว์ปีก รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ แนวความคิด และวิทยาการใหม่ ๆ แก่สมาชิก ตลอดจนนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated