บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าปฏิบัติตาม พรบ.เกษตรพันธสัญญา ขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งใน 87 ผู้ดำเนินโครงการเกษตรพันธสัญญา พร้อมยืดอกประกาศเป็นภาคปศุสัตว์รายแรกที่ทำ “ประกันภัย” เข้ารองรับความเสี่ยงแทนเกษตรกรรายย่อย หลังปรับปรุงสัญญาตามแนวทางสากลที่ FAO ยอมรับ ตอกย้ำการช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 5,000 รายของบริษัทให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนมากว่า 40 ปี

นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยถึง พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาแจ้งขึ้นทะเบียนการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าบริษัทฯได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“วันนี้สังคมคงรับรู้แล้วว่าระบบเกษตรพันธสัญญาไม่ได้มีเพียงซีพีเอฟรายเดียวที่ดำเนินการอยู่ แต่มีผู้ประกอบการถึง 87 รายที่มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถดำเนินธุรกิจหรือกิจการภาคเกษตรได้  โดยซีพีเอฟได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาและจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ของพรบ.ฯ เรียบร้อยแล้ว นายณรงค์กล่าวและว่าปัจจุบันซีพีเอฟมีเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่ 5,960 คู่สัญญา ครอบคลุมการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร โดย 60% ของจำนวนคู่สัญญานี้เป็นเกษตรกรที่อยู่กับบริษัทมายาวนานกว่า 10 ปี

นอกเหนือจากการดำเนินการต่างๆ ตามที่ พรบ.ฯ กำหนดแล้ว ซีพีเอฟยังถือเป็นผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์รายแรกที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารความเสี่ยงแทนเกษตรกรรายย่อยในประเภทประกันรายได้ (หรือฝากเลี้ยง) ซึ่งปกติบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบผลผลิตทั้งหมดอยู่แล้ว และจะเพิ่ม “การประกันภัย” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรงเรือนและอุปกรณ์หากเกิดภัยพิบัติ โดยที่โรงเรือนและอุปกรณ์นี้เป็นทรัพย์สินของเกษตรกรเอง เชื่อว่าการประกันภัยความเสี่ยงนี้จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ มั่นคงและสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรอีกส่วนหนึ่ง

“ตามปกติเกษตรกรรายใหม่ จะมีเงื่อนไขของสถาบันการเงินให้ทำประกันโรงเรือนและอุปกรณ์เป็นเวลา 8 ปี แต่หลังจากชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วน เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะไม่ทำประกันต่อและยอมแบกรับความเสี่ยงด้วยตนเอง บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงตรงนี้แทนเกษตรกรเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้”นายณรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรในระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งประเภทประกันราคา ที่มีการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจัดเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงด้านโรงเรือนและอุปกรณ์ได้ด้วยตนเองจึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทจะทำประกันภัยดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทได้พัฒนาปรับปรุงสัญญาโดยอิงแนวทางสากลของ  UNIDROT (The International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก มาสร้างมาตรฐานในการดำเนินโครงการคอนแทร็คฟาร์มที่ดี เน้นความสำคัญของเกษตรกรในฐานะพันธมิตรธุรกิจที่เติบโตไปด้วยกัน สัญญาของซีพีเอฟฉบับดังกล่าวได้รับการประเมินจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วว่า มีความเป็นธรรมและเป็นสากล ขณะเดียวกัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ  (FAO-Food and Agriculture Organization of the United Nations) ยังให้การยอมรับโดยนำไปเป็นตัวอย่างในหลายประเทศ

อนึ่ง ซีพีเอฟได้ริเริ่มโครงการคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งภายใต้การส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่ปี 2518 เพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรไทย โดยให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ องค์ความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนบริหารจัดการแหล่งรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินกิจการของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงแน่นอน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาในระดับสูง

“เมื่อมีกฎหมายขึ้นมากำกับดูแลเกษตรพันธสัญญาเช่นนี้ ผมเชื่อว่าจะเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การแบ่งงานกันทำระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ดียิ่งขึ้น” นายณรงค์กล่าวทิ้งท้าย./

 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated