ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ปลูกอินทผาลัมได้ ทำมากว่า 5 ปีแล้ว ได้ผลดีเยี่ยม
ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ปลูกอินทผาลัมได้ ทำมากว่า 5 ปีแล้ว ได้ผลดีเยี่ยม

เรื่อง/ภาพ : สิริพร เกษตรก้าวไกล

เกษตรกรร้อยเอ็ดหันมาปลูกอินทผลัม เหตุสามารถปลูกในพื้นที่แห้งแล้งอย่างทุ่งกุลาร้องไห้ได้ และมีราคาดี ขายเริ่มต้นกิโลกรัมละ 500 บาท

นายสมภพ ลุนาบุตร เจ้าของสวนอินทผลัม (สวนรวมใจ) บ้านเลขที่ 53 หมู่ที่ 9 บ.น้อยพัฒนา ต.ครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม สามารถปลูกในพื้นที่แห้งแล้งได้ มีต้นกำเนิดมาจากทางแถบทะเลทราย ตนสนใจการปลูกอินทผลัมพันธุ์ KL1 เพราะเหมาะกับพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ เนื่องจากเป็นดินร่วนปนทรายและมีความเค็มในระดับที่อินทผลัมต้องการ อีกทั้งพื้นที่มีขนาดใหญ่ และปัจจุบันทุ่งกุลาร้องไห้สามารถพัฒนาเพื่อปลูกอินทผลัมได้

นายสมภพ ลุนาบุตร เจ้าของสวนอินทผลัม (สวนรวมใจ)
นายสมภพ ลุนาบุตร เจ้าของสวนอินทผลัม (สวนรวมใจ)

นายสมภพ กล่าวต่อว่า เริ่มนำมาปลูกเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2555 ปัจจุบันที่สวนมีอินทผลัม พื้นที่ที่ใช้ปลูกมีประมาณ 3 ไร่เศษ ปลูกแบบ 8×7 จำนวน 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 28 ต้น สิ่งหนึ่งที่ตนคิดว่าทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็ว คงมาจากการศึกษาอยู่เสมอ พยายามทำความรู้จักอินทผลัม หมั่นใส่ใจในการดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ยอินทรียวัตถุ และอินทผลัมจะมีรสชาติพิเศษอร่อยหวานอมฝาด

ในช่วงต้น พ.ศ.2557 อินทผลัมออกผลเต็มที่ จึงเริ่มนำผลผลิตออกขาย ช่วงแรกขายในตลาดออนไลน์ พอมาปลายปีก็เริ่มเป็นที่รู้จักเนื่องจากได้ออกสื่อ ลงหนังสือเกษตร ต่อจากนั้นจึงเป็นที่ยอมรับเรื่อยมา พร้อมกับเป็นที่สนใจของเกษตรกรหน้าใหม่ การปลูกอินทผลัมต้องระวังพวกแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะด้วง ที่ชอบเกาะบริเวณโคนต้นอินทผลัม จะทำให้โคนต้นล้มได้ และผลผลิตจะเก็บได้ปีละครั้ง” นายสมภพ กล่าว

นายวีรชาติ จันทร์เพ็ชร หุ้นส่วนสวนอินทผลัม (สวนรวมใจ)
นายวีรชาติ จันทร์เพ็ชร หุ้นส่วนสวนอินทผลัม (สวนรวมใจ)

นายวีรชาติ จันทร์เพ็ชร หุ้นส่วนสวนอินทผลัม (สวนรวมใจ) กล่าวว่า ความต้องการของผู้บริโภคในขณะนี้มีจำนวนมาก ผลผลิตจึงไม่เพียงพอที่จะจำหน่ายในท้องตลาด ส่วนเกณฑ์ราคาในการจัดจำหน่าย หากผู้บริโภคเดินทางมาซื้อที่สวน จะคิดราคากิโลกรัมละ 500 บาท แต่หากทางสวนเอาเม็ดออกให้ จะจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 600 บาท หากผู้บริโภคสั่งซื้อส่งไปรษณีย์หรือ EMS ก็จะจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 700 บาท และสวนรวมใจยังเปิดขายพันธุ์อินทผลัม KL1 ด้วย แต่จำหน่ายเพียงพันธุ์เฉพาะหน้าสวนเท่านั้น

แนวโน้มในอนาคต นอกจากจะจำหน่ายลูกอินทผลัมสดแล้ว ขณะนี้สวนรวมใจยังได้คิดค้นการแปรรูป เช่น น้ำอินทผลัมสด ทำชาจากเกสรตัวผู้ นำเม็ดอินทผลัมมาคั่ว กลิ่นก็จะหอมเหมือนกาแฟ ทำโลชั่นจากผลอินทผลัม ทำเป็นแป้งตลับ หรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก แต่ยังไม่ได้จัดจำหน่ายทั้งหมด เป็นแผนการแปรรูปอินทผลัมให้มีมูลค่ามากขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ขณะนี้ยังไม่มีนักวิจัยมายืนยันได้ว่าอินทผลัมมีสรรพคุณหรือประโยชน์อย่างไร กินแล้วจะช่วยบำรุงระบบภายในร่างกายจริงหรือไม่ รวมถึงการผ่านการรับรองมาตรฐานจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แต่เคยส่งเนื้อเยื่อไปให้นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว แต่ก็ยังหาข้อมูลมายืนยันไม่ได้” นายวีรชาติ กล่าว

พี่สมภพ และครอบครัว
พี่สมภพ และครอบครัว

นางธัญสิริ บรรลังก์ อาชีพรับราชการ ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร กล่าวว่า ตนเป็นผู้บริโภคและซื้อพันธุ์มาปลูกที่สวน แล้วก็รับประทานเองด้วย รู้จักอินทผลัมจากหนังสือ แล้วค้นหาสวนหรือไร่ใกล้เคียง จึงรู้จักกับสวนรวมใจของนายสมภพ จากนั้นได้ศึกษาแล้วลองซื้อไปปลูกเองที่สวน พันธุ์ KL1 ราคาต้นละ 800 บาท พร้อมการบริการดูแลหลังการซื้อ คือนายสมภพจะคอยช่วยดูแล โดยนายสมภพจะแนะนำให้ปลูกแบบ 8×7 ตามพื้นที่ แต่ก็มีบ้างที่นำมาปลูกแบบ 4×4 เพราะสามารถหมุนได้ ถ้ามีตัวผู้–ตัวเมีย

การดูแลก็จะเป็นเรื่องปุ๋ย เรื่องปัญหาคาดว่าฝนตกน้ำท่วมแล้วจะมีปัญหาแต่ ที่ผ่านมาฝนตกหนักน้ำท่วม อินทผลัมก็ยังสามารถอยู่ได้ ไม่เป็นอะไร สามารถทนน้ำได้เป็นอาทิตย์ ที่สวนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์บาร์ฮี หรือ บัรฮี พันธุ์นี้สำหรับไว้ทานสด ซึ่งจะอร่อยกว่าลูกแห้ง ต้นกำเนิดอยู่ในประเทศอิรัก พันธุ์ KL1 มาจากแม่โจ้ 36 ปลูกในประเทศไทย พันธุ์นี้สามารถทานสด รสชาติฝาด ๆ หน่อย เคี้ยวนาน ๆ จะมีรสหวานมาก พันธุ์เดจเล็ท นัวร์ สายพันธุ์นี้เหมาะทานแห้งดีกว่า แต่ก็สามารถทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก” นางธัญสิริ กล่าว

ผลผลิตอินทผาลัมสวนรวมใจ
ผลผลิตอินทผาลัมสวนรวมใจ

นางธัญสิริ กล่าวต่อว่า ในอนาคตจะทำเป็นสวนโดยมองตลาดที่จะจำหน่ายคือในชุมชน ถ้าหากมีการประชาสัมพันธ์ดีพอ ชาวบ้านหรือเกษตรกรก็หันมาสนใจ ทั้งขณะนี้นี้มีแผนที่จะใช้อินทผลัมมาแทนน้ำตาล ส่วนราคาก็จะไม่จำหน่ายแพงเท่าที่อื่น จุดประสงค์ต้องการให้คนทุกระดับชั้นรับประทานได้ จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 200 – 300 บาท ถ้าในอนาคตเกิดมีเกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้นจนล้นตลาด ก็ยังมีอีกหลายช่องทางขาย เช่น ขุดนำไปขายเป็นไม้ประดับ

ด้านนางสาวชมพูนุช ญาณะนันท์ หัวหน้าสำนักงานเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า อินทผลัมสามารถเป็นพืชทางเลือกที่ดีให้แก่เกษตรกร ทางสภาเกษตรก็ช่วยแนะนำเบื้องต้น และก็มีการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรทดลองปลูก เพื่อที่เกษตรกรจะได้มีทางเลือกที่ไม่จำเจ ภายใต้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรอินทรีย์ เหตุผลที่อยากให้เกษตรกรลองปลูกอินทผลัมเพราะมีรายได้สูง มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดความดัน กินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย

หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต่อว่า ลูกที่ยังเป็นสีเขียวเชื่อกันว่า สามารถบำรุงเรื่องเพศได้ ทั้งนี้ ที่บอกว่าเป็นทางเลือกวิกฤตทางการทำเกษตร เนื่องจากบางพื้นที่อาจจะปลูกได้ บางพื้นที่อาจจะปลูกอ้อย ปาล์ม อินทผลัม แต่เกษตรกรบ้านเรา ถึงแม้จะประชาสัมพันธ์ก็มักไม่เป็นที่สนใจ สาเหตุที่ไม่สนใจ อันดับแรกคือไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ชาวบ้านมักจะคิดว่า มีราคาแพง ถ้าปลูกได้จะไม่มีคนซื้อราคากิโลกรัมละ 500-600 บาท ถ้าเป็นเขาเอง เขาก็ไม่ซื้อทาน และอีกสาเหตุที่เขาไม่ปลูกกันคือ เขามักจะคิดว่าคนที่มีเงินเท่านั้นที่สามารถปลูกได้

พี่สมภพ ภูมิใจผลผลิตอินทผาลัม
พี่สมภพ ภูมิใจผลผลิตอินทผาลัม

แต่ที่น่าแปลกคือ ดินที่ทุ่งกุลาร้องไห้ สามารถปลูกอินทผลัมได้มีรสชาติที่อร่อย หวาน ฝาดหน่อย ๆ หากฝาดต้องเคี้ยวนาน ๆ เพื่อจะได้ลิ้มรสความหวาน ส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะมาจากดินในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้เป็นดินเค็มหรือดินทรายผสมดินร่วนที่มีชั้นผิวด้านล่างเป็นเกลือ ดินจึงมีรสเค็ม (ดินเอียด) ซึ่งมันช่วยให้อินทผลัมมีรสหวาน เวลาที่นำอินทผลัมไปปลูก ก็สามารถออกผลผลิตได้ดี คนที่มาทำตรงนี้ได้ ต้องศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากข้าวจะเป็นพืชที่มหัศจรรย์ ที่สามารถปลูกในเขตพื้นที่นี้ได้แล้ว ทางสภาเกษตรก็อยากจะให้ปลูกพืชอินทผลัม เพราะรายได้ดี กิโลกรัมละ 500-600 บาท 1 ต้นมี 5-6 จั่น คิดง่าย ๆ ลองเอา 600×5 ต้นหนึ่งหลายหมื่น บางต้นก็เป็นแสน” นางสาวชมพูนุช กล่าว

ส่วนนางสาวอรพิน บุญกุล พนักงานบริษัท ผู้บริโภค อายุ 31 ปี กล่าวว่า ตนรู้จักและเคยทานอินทผลัม แต่แถวบ้านจะเรียกว่า อินทผาลัมไม่ใช่อินทผลัม เคยทานแบบแปรรูป อบแห้ง มีรสชาติหวานนิด ๆ ไม่หวานมาก ไม่เลี่ยน รสชาติคล้าย ๆ พุทราแช่อิ่ม อันดับแรกที่ทำให้รู้จักอินทผาลัม คือเห็นวางขายตามท้องตลาด แต่ได้ทานเมื่อมีคนซื้อมาฝากจึงลองทานดู รสชาติดี ไม่ได้หวานโดด ราคา 100 บาท ถือว่าเหมาะสม คิดว่าไม่แพง ถือว่าตนสามารถมีกำลังซื้อได้

ออกบูธตั้งร้านขายอินทผาลัมสวนรวมใจ
ออกบูธตั้งร้านขายอินทผาลัมสวนรวมใจ

รศ.ประสิทธิ์ ชุติชูเดช อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ทิศทางของอินทผลัม ยังเป็นพืชที่ไม่ยั่งยืนนัก เนื่องจากเป็นพืชที่ยังใหม่ ต้องศึกษากันยาว ๆ บางสวนสามารถปลูกได้ ประสบความสำเร็จ เพราะค่อนข้างศึกษาค้นคว้ามากพอสมควร ยกเว้นสวนที่ทำอยู่จะเพิ่มมูลค่าต่อยอดผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มอันนี้จึงจะสามารถอยู่ได้นาน แต่ถ้าจะให้ส่งเสริมเป็นอาชีพหลักจะต้องศึกษาตลาดก่อน จำหน่ายส่งออกให้ใคร จะมีคนมาซื้อหรือไม่ ซื้อได้เฉพาะกลุ่มหรือเปล่า หรือว่าซื้อแค่ในตอนนี้เท่านั้น

รศ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า อินทผลัมสามารถปลูกพื้นที่ในภาคอีสานได้ เนื่องจากเป็นพืชทะเลทราย ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี หากพูดถึงรสชาติหวานต้องเป็นภาคอีสานที่เดียวก็ไม่เกี่ยว เพราะเทคโนโลยีสามารถดัดแปลง ปรุงแต่งรสชาติได้ การดูแลก็ต้องมีบ้าง ดูแลน้ำ ดิน ปุ๋ย ตามความเหมาะสม ความชุ่มชื้นของดิน ปุ๋ยต้องมีอัตราส่วนที่พอเหมาะ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อคุณภาพและผลผลิตได้

สำหรับใครที่สนใจอยากพูดคุยแลกเปลี่ยน สามารถติดต่อ “สวนรวมใจ” ผ่าน Facebook -สมภพ ลุนาบุตร ได้เลยค่ะ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated