“ประพัฒน์” ชี้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542  เข้าใจได้ว่ากรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามจะปรับปรุงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช 1991 (UPOV 1991) แต่มีสิ่งน่าห่วงใยและกังวลอย่างยิ่งคือเรื่องนี้เกี่ยวพันกับชีวิตของเกษตรกรทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่พึ่งตนเองไม่ได้และเป็นเกษตรกรรายย่อย  เรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ที่มีผลกระทบกับเกษตรกรมากขนาดนี้ ขอให้กระทรวงเกษตรฯทำด้วยความรอบคอบ ให้ประชาชน, เกษตรกรมีส่วนร่วมมากๆ ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและสาธารณะให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาสภาเกษตรกรแห่งชาติรู้สึกได้ว่า กระทรวงเกษตรฯโดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรงุบงิบทำ เหมือนว่าไม่ยอมให้เกษตรกรรับรู้ ซึ่งตรงนี้อันตรายมากหากกฎหมายบังคับใช้แล้วมีผลกระทบต่อเกษตรกรมากๆ จนเป็นกระแสต่อต้านลุกลามจะเอาไม่อยู่ นับว่าโชคดีที่กฎหมายฉบับนี้ถึงแม้จะเร่งรีบทำ แต่ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงใคร่เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร ถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อชะลอกฎหมาย และทำให้เกษตรกร,ประชาชนเข้าใจได้มากกว่านี้ ภายใต้คำชี้แจงของอธิบดีทุกคนฟังอยู่แต่มีหลายประเด็นมากที่ยังไม่ชัดเจน เช่น เรื่องคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกร ที่อยากเห็นก็คือกระบวนการเกษตรกรเลือกกันเองโดยการเสนอรายชื่อ ซึ่งตรงนั้นจะทำให้กรรมการมีที่มาที่ไป อย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นการช่วยในกรรมการระดับชาติในกรณีที่จำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรทั้งประเทศก็ทำได้ง่าย แต่ในกฎหมายเขียนว่าให้เกิดจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งอันตรายมากหากแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติหรือคนที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้ก็จะขาดการมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงกับเกษตรกรทั้งประเทศ เวลาพิจารณาประเด็นบางประเด็นอาจจะเกิดกระแสต่อต้านได้ และอีกหลายเรื่องที่ยังห่วงกังวลมาก เช่น การเอาพันธุกรรมไปขยายผลปลูกต่อ มาตรา 35 เขียนว่าในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเกษตรกรในประเทศส่วนใหญ่เช่าพื้นที่ทำกินทั้งนั้น หรือพื้นที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ เหล่านี้จะมีคำอธิบายอย่างไร ปัจจุบันปัญหาด้านเศรษฐกิจรุนแรงเกษตรกรย่ำแย่อยู่แล้วจะเป็นการซ้ำเติมให้หนักหน่วงมากขึ้น รวมทั้งในระยะยาวก็อาจจะมีผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศได้ จึงขอเรียกร้อง วิงวอนให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อที่จะชะลอกฎหมายไว้ระยะหนึ่งเพื่อพูดคุยกับเกษตรกรให้รอบด้าน รอบคอบกว่านี้ จะได้เกิดความผิดพลาดน้อยลงหรือจะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น

“เรื่องนี้เท่าที่จำความได้เป็นประเด็นขัดแย้งทางสังคมมาโดยตลอด หลายรัฐบาลพยายามหยิบยกกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุงแต่ก็ถูกกระแสคัดค้านจนต้องถอยกลับไปหลายรอบ ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่ง หากว่ากระทรวงเกษตรฯไม่สนใจกระแสเสียงของเกษตรกร หลับหูหลับตาเร่งรัดออกมา เชื่อมั่นได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งสูงมาก จึงอยากให้เกษตรกรกรุณาติดตาม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคตของท่านและลูกหลานยาวนาน หากกฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติบังคับใช้แล้วมีผลกระทบก็จะเป็นผลกระทบที่ยาวนานและแก้ไขยากมาก จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรติดตามด้วยความเป็นห่วง” นายประพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated