การประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง ยุทธศาสตร์การใช้ตลาดนำการค้าสินค้าเกษตรเป้าหมาย : ข้าวและมันสำปะหลัง
การประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง ยุทธศาสตร์การใช้ตลาดนำการค้าสินค้าเกษตรเป้าหมาย : ข้าวและมันสำปะหลัง

ขอบคุณภาพ : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

เมื่อวันจันทร์ที่ 18  กันยายน  2560 ได้มีการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง ยุทธศาสตร์การใช้ตลาดนำการค้าสินค้าเกษตรเป้าหมาย : ข้าวและมันสำปะหลัง โดย ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการจัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

เป้าหมายเพื่อกำหนดต้นแบบและยุทธศาสตร์ในการเพิ่มพูนข้อมูลความรู้ทิศทางการตลาดการค้าสินค้าเกษตรที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์ ให้ถึงมือเกษตรกรซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแผนการผลิตในแต่ละฤดูกาล เพื่อให้การลงทุนในปัจจัยการผลิตเกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ปรับวิถีแห่งการเป็นเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ในการก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนและพอเพียง

“เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตผลทางการเกษตรได้ราคาดี ตลาดต้องการแบบไหน เราต้องผลิตให้ตรงความต้องการ ต้องลดปัญหาผลิตเหลือทิ้ง ถึงเวลาที่เราจะต้องใช้การตลาดนำการผลิต” น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้มาเป็นประธานในพิธีเปิด ได้แสดงความคิดเห็นตอนหนึ่ง

บรรยากาศในการจัดสัมมนา มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดมาร่วมรับฟัง ประมาณ 200 คน
บรรยากาศในการจัดสัมมนา มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดมาร่วมรับฟัง ประมาณ 200 คน

การจัดสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้น 1 วันเต็มๆ มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดมาร่วมรับฟัง ประมาณ 200 คน ในขณะที่วิทยากรผู้มาให้ข้อมูลก็คึกคักไม่แพ้กัน ภาคเช้านอกจาก ผศ.ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ หัวหน้าโครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาดจะมาให้ภาพรวมของโครงการแล้ว ยังมี ดร.ธีรารัตน์ วรพิเชฐ ภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มก. ที่มาให้ข้อมูลเชิงลึกในเรื่องของตลาดการแปรรูปข้าว ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ “โอกาสทางการตลาดของอุตสาหกรรมข้าวไทยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าว” โดย คุณปราโมทย์ วานิชนนท์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวไทย ดร.ถวัลย์ศักดิ์ เผ่าสังข์ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มก. คุณมานพ แก้วโกย หจก. เนเจอร์ฟู้ดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง คุณวัชรพล บุญหลาย กรรมการผู้จัดการบริษัท เมดิฟู้ด จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุณปราโมทย์ วานิชนนท์ ให้ความคิดเห็นว่า ทุกวันนี้สุขภาพข้าวของเราย่ำแย่ 30-40 ปีที่แล้วเราเป็นผู้นำ ขายข้าวเป็นอันดับ 1 ตลอดมา วันนี้เราทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ทั้งรับประกัน ทั้งจำนำข้าว 7 ปีที่ผ่านมาเราเสียเงินไปหลายแสนล้านบาท หากเรานำเงินจำนวนนั้นมาสักหนึ่งหมื่นล้านบาทมาทำการวิจัยพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์การตลาด มาลงทุนเรื่องน้ำที่เป็นปัญหาก็จะทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องให้ชาวนามาขอเงินแค่ให้น้ำเขาอย่างเดียว อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ทำเงินให้เรากว่า 8 แสนล้าน เราลงทุน 100 ล้านบาท เพราะฉะนั้นนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเป็นความก้าวหน้า เราต้องเกาให้ถูกที่คัน เช่น การแปรรูปจะต้องตอบโจทย์ว่าต้องใช้ข้าวกี่ล้านตัน ชาวนาได้เท่าไร

“การลงทุนพัฒนา 3 ปีเห็นผล ไม่ต้องใช้เงินอุดหนุน คนจนคนรวย โรงสีพ่อค้าเกษตรกรต้องเดินไปพร้อมกัน และเอาเงินไปสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา ไม่ทำเหมือนที่ผ่านมา เราต้องหาจุดแข็งให้เจอ มองอนาคตให้ออกว่าเราจะไปยืนอยู่จุดไหน ข้าวพันธุ์ไหนที่ตลาดต้องการบ้าง” คุณปราโมทย์ กล่าว

คุณวัชรพล บุญหลาย กล่าวว่า การพัฒนาสินค้าเกษตรของเราต้องมุ่งเน้นสร้างเกษตรที่ปลอดภัย นำนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่า ทำการค้าเชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยคำนึงถึงความสุขและความยั่งยืน คือพื้นฐานที่ทุกคนต้องการ เราต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัว ทำในเรื่องที่เราถนัดที่สุด อย่าทำทุกเรื่อง แต่ต้องทำในสิ่งที่จุดประกายความคิดใหม่ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆบนพื้นฐานที่เรามี

คุณมานพ แก้วโหย กล่าวว่าการพัฒนาสินค้าเกษตรจะทำแบบวัวหายล้อมคอกไม่ได้ ต้องมองไปที่แนวโน้มของโลก เช่น ประชากรจะเติบโตไปอีกเท่าไร ยุทธศาสตร์การเกษตรต้องไปทิศทางไหน ความต้องการข้าวของโลกเป็นอย่างไร เช่น คนจีนที่เป็นชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงประมาณ 200-300 ล้านคน กลุ่มนี้เราต้องผลิตสินค้าปลอดภัยที่มีคุณภาพสูง เราต้องนำเทคโนโลยีมาวางแผนอนาคต วางทิศทางการพัฒนาเกษตร แทนที่จะทำกันปีต่อปี

ดร.ถวัลย์ศักดิ์ เผ่าสังข์ กล่าวว่า การรวมตัวกันของเกษตรกร ต้องทำให้เป็นเชือก 3 เกลียว คือต้องเหนียวแน่น หากเพียงเส้นใดเส้นหนึ่งอาจขาดได้ ต้องกำหนดทิศทางตลาดให้ได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ถ้ารวมกันได้ก็จะแก้ตรงนี้ได้

ปิดท้ายในเรื่องโอกาสตลาดข้าวไทย ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน ในฐานะผู้ดำเนินรายการได้นำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาฝากเป็นข้อคิดว่า

บรรยากาศในการจัดสัมมนา มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดมาร่วมรับฟัง
บรรยากาศในการจัดสัมมนา มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดมาร่วมรับฟัง

“..ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก..”

สำหรับการสัมมนาในภาคเช้าว่าด้วยตลาดข้าวก็จบเพียงแค่นี้ ส่วนในภาคบ่ายเป็นเรื่องของตลาดมันสำปะหลัง ซึ่งก็มีเนื้อหาสาระที่เข้มข้นไม่แพ้กัน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated