8 มหาวิทยาลัยจับมือ! พัฒนาเกษตรอัจฉริยะด้วยข้อมูลขนาดใหญ่?
โครงการการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้วยข้อมูลขนาดใหญ่

โลกใหม่…มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเสริมการผลิตในทุกมิติ เพื่อทำการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ โดยตลอด

ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธาน งาน“Agri-Big Data Run’s Way” การพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้วยการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่
ระบบอัจฉริยะด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ คืออะไร?

ผศ. ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะฯ เปิดเผยว่า โครงการการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ (Development of Smart Thai Agriculture Using Big Data) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันพัฒนาโครงการนี้ขึ้นเพื่อสร้างระบบข้อมูลเพื่อช่วยสนับสนุนในการตัดสินใจให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตรายกลาง รายใหญ่ ผู้ประกอบการ จนถึงระดับผู้กำหนดนโยบาย (แก้ไขปัญหาด้านการผลิต การหาคำตอบที่ชาญฉลาดต่างๆ) ในบริบทของประเทศไทย ข้อมูลด้านการเกษตร ไม่ว่าเชิงปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับลมฟ้าอากาศ การตลาดใน/ต่างประเทศ เชิงผลงานวิจัย ข้อมูลสารสนเทศสมัยใหม่ที่สำคัญด้านการเกษตร เช่น ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมการเกษตร เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ขาดการบูรณาการ ที่สามารถพัฒนาไปสู่ระบบการให้คำตอบเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้ผลิตได้ เช่น เกษตรกรจะเลือกปลูกพืชชนิดใดในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ข้อมูลการผลิตที่สำคัญสำหรับฤดูการนั้น มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ โรค แมลง อย่างไร ช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร ซึ่งในการได้มาของคำตอบเหล่านี้ ปัจจุบันไม่สามารถหาคำตอบเหล่านี้จากแหล่งที่เป็นฐานข้อมูลเพียงแห่งเดียว ทำให้ผู้ใช้ต้องเสาะแสวงหาคำตอบด้วยความยุ่งยากซับซ้อน ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ สามารถนำข้อมูลเพื่อการเกษตรด้านต่างๆ ข้างต้นมาสร้างเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รวมทั้งการพัฒนาแอพพลิเคชัน (Application) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถรับข้อมูลสำคัญและเลือกใช้ข้อมูลที่จำเป็น รวมทั้งสามารถให้ข้อมูลหรือตอบคำถามปัจจุบันกลับมายังฐานข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อสะสมเป็นข้อมูลอนาคต ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อการพยากรณ์สำหรับการผลิตภาคการเกษตร ให้มีความแม่นยำและถูกต้องลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและบรรเทาการใช้เงินชดเชยทดแทนจากภาครัฐได้

ผศ. ดร.สุดเขตต์ นาคะ
ผศ. ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะฯ

 

ฐานข้อมูลต้นแบบ นำร่อง 13 โครงการย่อย

โครงการวิจัยนี้ดำเนินการในพื้นที่ทุ่งรังสิต ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นครนายก พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นการทำงานในพื้นที่จริงกับเกษตรกร ผู้ผลิต และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลต้นแบบสำหรับพืชและสัตว์เศรษฐกิจนำร่อง ประกอบด้วย 13 โครงการย่อย เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน ไม้ดอกไม้ประดับ โคนม โคเนื้อ และปลานิล ครอบคลุมข้อมูลแนะนำเพื่อการผลิต ข้อควรระวัง การเตือนภัย ข้อมูลปัจจัยด้านการผลิต เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ฐานข้อมูลอื่นๆ ที่มีความสำคัญซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น ช่องทางทางการตลาด ราคา โลจิสติกส์ ปริมาณน้ำทางการเกษตร ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการผลิตภาคการเกษตร ผลกระทบเชิงภูมิอากาศในภาพใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ข้อมูลสำคัญทางการเกษตรเหล่านี้จะถูกผนวกอยู่ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของโครงการฯ ด้วย ส่วนในด้านการติดตามข้อมูลปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศทางการเกษตร จะมีกลุ่มฐานข้อมูล เซนต์เซอร์อัจฉริยะที่ติดตามข้อมูลด้านภูมิอากาศด้านการเกษตรที่เป็นปัจจุบันควบคู่ไปด้วย ด้วยวิทยาการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยในการได้มาซึ่งคำตอบสำหรับเกษตรกรและผู้ผลิตระดับต่างๆ ผ่านกระบวนการอบรมถ่ายทอดเพื่อสร้างการยอมรับในวิทยาการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว

โครงการการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้วยข้อมูลขนาดใหญ่
โครงการการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้วยข้อมูลขนาดใหญ่
เกษตรกรและประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างไร?

คำตอบที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ นี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทย ในฐานะประเทศเกษตรกรรมให้เป็นประเทศ Smart Agriculture โดยมีเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer ที่มีความรู้ ความสามารถเท่าทันเหตุการณ์ เข้าใจสถานการณ์ สามารถปรับตัวและปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่รอบตัว โดยการตัดสินใจใดๆ จะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำ เกิดจากการพยากรณ์ที่อาศัยหลักสถิติและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเสริม สามารถพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตที่ใช้นวัตกรรมเพื่อมีความมั่นใจและนำสมัย เสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตด้านการเกษตรที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ในการนำไปสู่การพัฒนา เพิ่มมูลค่า สร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภคที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนและสร้างภาวะผู้นำด้านการเกษตรให้กับประเทศไทยในระดับสากลอย่างแท้จริง

เกษตรกร หรือผู้สนใจ…สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 5790588 ต่อ 1011 อีเมล์ agrskn@ku.ac.th

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated