เรื่อง/ภาพ : วาสนา เพิ่มสมบูรณ์

จันทบุรี เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นร้อยพันธุ์ผลไม้ โดยเฉพาะราชาผลไม้อย่างทุเรียน เมืองจันท์เขาก็ขึ้นชื่อไม้แพ้ใคร พอถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ก็มีมาให้แก้กันทุกปี ทว่าในปีนี้ผลจากการดำเนินการตามนโยบายแปลงใหญ่ทำให้พี่น้องเกษตรกรยิ้มได้ เพราะผลผลิตมีราคาเพิ่มขึ้น

คุณอุดม วรัญญรัฐ
คุณอุดม วรัญญรัฐ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กำลังบรรยายเรื่องทุเรียนให้กับสื่อมวลชนเกษตร

งานนี้รอช้าไม่ได้แล้ว เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรนำทีมสื่อมวลชนไปพบปะพูดคุยกับเกษตรกรตัวจริง จึงต้องถามหน่อยว่าผลผลิตปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

คุณอุดม วรัญญรัฐ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และประธานผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 200 ไร่ แบบครบวงจร บอกว่า ผลผลิตทุเรียนในจันทบุรีปีนี้ค่อนข้างหนาแน่น และคิดว่าปริมาณผลผลิตทุเรียนในปีนี้จะเป็นบรรทัดฐานได้ในอีกสองสามปีข้างหน้า จากที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการรวบรวมผลผลิต สินค้าไม่มีมาตรฐาน ทำให้พ่อค้าคนกลางชี้นำเกษตรกรรายย่อยได้ เกษตรกรเสียเปรียบ

สมชาย ชาญณรงค์กุล
สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กำลังพูดเกี่ยวกับบทบาทการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเกษตรกร

หลังจากมีการบริหารตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ที่เข้ามาส่งเสริมจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 50 แปลง เกิดความแตกต่างจากเดิม มีการรวมผลผลิตเพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาด สินค้ามีความคล้ายคลึง พ่อค้าไม่สามารถชี้นำได้และมีมาตรฐานเดียวกัน

การรวมกันในกลุ่มเกษตรกรทำให้การดูแลการผลิตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้ อนาคตการเกษตรบ้านเราก็คงไม่แพ้ใคร การปลูกทุเรียนที่นี่จะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกขั้นตอน รวมถึงราคาทุเรียน 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าดีมาก ปีนี้ราคาไม่ตกต่ำ อีกสองสามปีข้างหน้า ก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง

คุณอุดม ยังบอกอีกว่า การที่รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่แล้ว ในอนาคตคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้าน เราจะสามารถมีต้นทุนที่สู้เขาได้

กำลังคัดแยกทุเรียนเพื่อส่งไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ
กำลังคัดแยกทุเรียนเพื่อส่งไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ

ก่อนจะจบบทสนทนา คุณอุดมได้ทิ้งท้ายข้อความที่น่าสนใจ โดยฝากไว้ให้เป็นการบ้านของภาครัฐในการแก้ปัญหาต่อไปว่า ถึงตอนนี้ผมเป็นห่วงอย่างเดียวคือเรื่องแรงงานที่จะแพ็คกิ้ง แล้วก็เรื่องขนส่ง ถ้ามีการขยายตัวมากขึ้น เรื่องระบบโลจิสติกส์และระบบแรงงานเรามีข้อจำกัด คือไม่สามารถที่จะแพ็คกิ้งหรือส่งออกได้ทัน ผลผลิตก็จะล้นอยู่ในตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะในช่วงที่ผลไม้กระจุกตัวเต็มที่ จึงห่วงเรื่องระบบขนส่งอย่างมาก คุณอุดมเอ่ยทิ้งท้าย

ทุเรียนที่รอการขนส่งไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ
ทุเรียนที่รอการขนส่งไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ

เรียกได้ว่าเกษตรแปลงใหญ่ได้เข้ามามีบทบาทในการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ทำให้เกษตรกรมีปากมีเสียงมากขึ้น

ในขณะที่คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้นำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชมแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองจันท์ในครั้งนี้ กล่าวว่า ผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออก สำหรับปีนี้มีมากถึง 3 แสน 4 หมื่นตัน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ราคาซื้อขายยังไม่ลดลง โดยยังอยู่ที่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลจนเข้าสู่ปลายฤดูกาล ราคาก็ยังคงที่ โดยทุเรียนมีความหลากหลายพันธุ์เป็นที่นิยมมากขึ้น เช่น พวงมณี นกหยิบ ที่มีรสชาติอร่อยมากกว่าเดิม โดยรวมผลไม้ภาคตะวันออกถือว่าดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นปริมาณ คุณภาพ ราคา หากเปรียบเทียบกับเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา

ทุเรียนผลสุกที่ผ่านการแพ็ตเพื่อรอจำหน่าย
ทุเรียนผลสุกที่ผ่านการแพ็ตเพื่อรอจำหน่าย

ปีนี้ราคาทุเรียนดี ผลผลิตค่อนข้างเยอะ เพราะเราสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นในการดูแลกันเองของสมาชิก นั่นคือบทบาทที่เราทำงานร่วมกัน ราชการวันนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำ แต่เป็นหน่วยสนับสนุนพี่น้องเกษตรกร อธิบดีกรมส่งเสริมกล่าว

สวนทุเรียนแปลงใหญ่ ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
สวนทุเรียนแปลงใหญ่ ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

อยากรู้เรื่องทุเรียนแปลงใหญ่เพิ่มเติม ทั้งการผลิตและการตลาด ติดต่อคุณอุดม โทร 081-8654846…พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้อย่างเต็มที่ค่ะ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated