คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวถึง “ความสำเร็จในการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของโลก” จำนวน 7 ตัวพร้อมติดตามหลังปล่อยพบว่าวัวแดงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง กำเนิดลูกในป่าธรรมชาติได้ นับเป็นความสำเร็จของการฟื้นฟูประชากรวัวแดงซึ่งเป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์ในผืนป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงถึง “ความสำเร็จในการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของโลก” เพื่อเป็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน ซึ่งมีโครงการที่ร่วมอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นกิจกรรมหลัก โดยโครงการแรกได้แก่ โครงการปล่อยละมั่งที่ได้จากการเพาะเลี้ยงคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย รวมถึงการปล่อยละมั่ง “อั่งเปา” ที่เกิดจากการผสมเทียมตัวแรกของประเทศไทยคืนสู่ป่าสลักพระ จ. กาญจนบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จมากและปัจจุบันอั่งเปามีลูกได้ในป่าธรรมชาติถึง 4 ตัวแล้วและยังคงใช้ชีวิตในป่า ได้เป็นอย่างดี และกิจกรรมที่สองเป็น โครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของโลก ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ปล่อยวัวแดงไปแล้วจำนวน 7 ตัว และได้ติดตามหลังการปล่อยอย่างต่อเนื่อง พบว่าวัวแดงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรงดี สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพป่าธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และสามารถให้กำเนิดลูกในป่าธรรมชาติได้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติครั้งแรกของโลก  และเป็นก้าวสำคัญของวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าเมืองไทย และอีก 4 ตัวกำลังฝึกเข้ากล่องขนย้ายซึ่งจะปล่อยปลายปี นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคเอกชน และมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง  ที่ได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมถึงพระกรุณาของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงมอบให้ผู้แทนพระองค์มาปล่อยวัวแดง นำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่คณะทำงานและพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้

แถลงข่าวความสำเร็จในการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ
แถลงข่าวความสำเร็จในการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ

รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ และผู้ควบคุมดูแลสุขภาพวัวแดงก่อน-หลังการขนย้าย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การปล่อยวัวแดงในปีที่ 1 ได้ปล่อยวัวแดงเมือวันที่ 15 ธันวาคม 2557 จำนวน 4 ตัว เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 2 ตัว (อายุระหว่าง 3-5 ปี) ปีที่ 2 ปล่อยวัวแดงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 จำนวน 3 ตัว เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 1 ตัว (อายุระหว่าง 3-6 ปี) โดยได้ติดตามศึกษาหลังปล่อยวัวแดง 4 ตัวในปีแรก โดยใช้วิธีจับสัญญาณวิทยุจากปลอกคอ (Radio Collar) / การแกะรอย / Camera Trap และในปีที่ 2 ใช้วิธีจับสัญญาณจากปลอกคอ (Radio Collar) และระบุพิกัดจากดาวเทียม (GPS Collar) ปลอกคอชุดนี้ใช้งานได้ทั้งระบบวิทยุ และดาวเทียม / การแกะรอย / Camera Trap โดยผลการศึกษาวัวแดงที่ปล่อยปีแรก พบว่าสามารถใช้พื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งสลักพระได้ทั้งหมด คิดเป็นพี้นที่ 50.82 ตารางกิโลเมตร หรือ 31,726 ไร่ ส่วนวัวแดงที่ปล่อยในปีที่ 2 อยู่ระหว่างการศึกษาหลังจากการปล่อยวัวแดงปีที่สอง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 จากนั้นประมาณ 3 เดือน พบว่าวัวแดงทั้ง 2 กลุ่มรวมฝูงกัน และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ช่วงเวลาเย็น (เวลา 16.42 น.) กล้อง Camera Trap สามารถบันทึกภาพนิ่งและวีดิโอของลูกวัวแดงที่เกิดจากวัวแดงที่ปล่อยเมื่อปีแรก จากขนาดของลูกวัวแดงคาดว่ามีอายุประมาณ 1 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าลูกวัวแดงที่เกิดในธรรมชาตินี้ นับเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการฟื้นฟูประชากรวัวแดงในผืนป่าสลักพระ

รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่จะฟื้นฟูสัตว์หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ ทั้งนี้ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน และทางองค์การสวนสัตว์เอง ก็มีบทบาทในการอนุรักษ์ การวิจัยและการศึกษาสัตว์ป่า โดยได้ร่วมภาคีกับหน่วยงานมหาวิทยาลัย กรมอุทยานฯ และยังได้สนับสนุนสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวางยาสลบสัตว์ป่าขนาดใหญ่ การบันทึกกระบวนการต่าง ๆ ที่จะปล่อยวัวแดง เช่น การถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอ

ด้าน นายเสรี นาคบุญ  หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ สรุปความสำเร็จของโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ เป็นครั้งแรกของโลกว่า โครงการจะประสบความสำเร็จได้นั้นมีกระบวนการหลายขั้นตอน และมีภาคีเครือข่ายของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ วิชาการ NGOs และมวลชน โดยเฉพาะต้องเริ่มจากสร้างความเข้าใจกับมวลชนหรือระเบิดจากข้างในและเรียนรู้ความเคลื่อนไหวของวัวแดงแล้วแจ้งมาที่ศูนย์ หรือวัวแดงเเรียกว่า Super Dream Team ซึ่งต้องมีศรัทธาในสิ่งที่ทำและบูรณาการร่วมกัน ในช่วงก่อนปล่อยต้องฝึกวัวแดงให้เคยชินกับการเข้ากล่อง การเคลื่อนย้าย ปรับสภาพ และปล่อย ซึ่งขณะนี้ฝึกให้อยู่ในกล่องให้นานที่สุด และหากวัวแดงทั้ง 3 ตัวมีความพร้อมก็จะปล่อยได้ประมาณเดือนสิงหาคม

วัวแดง (Banteng) เป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ที่เป็นเครือญาติกับกระทิง ในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมลำดับที่ 180 ปัจจุบันวัวแดงสายพันธุ์ไทยแท้มีเหลืออยู่บนโลกไม่ถึง 500 ตัว จึงเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ในภาวะวิกฤต ก็ยังมีความหวังเหลืออยู่บ้าง เนื่องจากที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ และกลุ่มประชาชนหัวใจสีเขียว ในจังหวัดกาญจนบุรีมีแนวคิดที่จะปล่อยวัวแดงที่ศูนย์เพาะเลี้ยงไว้กลับสู่ธรรมชาติเรื่องราวความเป็นมาเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งหมดต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ทั้งปรับสภาพวัวแดงให้สามารถกลับไปหากินในป่าได้ และปรับสภาพใจของคนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร กว่าจะถึงวันปล่อยได้มีขั้นตอนอีกมากมาย ทั้งการตรวจเลือดเพื่อเช็ค DNA การขนย้ายวัวเข้าไปในป่าเพื่อปรับสภาพการหากินแต่แล้ววันที่รอคอยก็ได้มาถึง เมื่อได้เวลาเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการนักอนุรักษ์ในประเทศไทย กับการปล่อยวัวแดงกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

ที่มา : เมื่อปี 2512 เจ้าหน้าที่ในเขตสลักพระได้ช่วยชีวิตลูกวัวแดง เพศเมีย ที่แม่ถูกยิ่งตายที่โป่งทอง และได้ตั้งชื่อว่าเจ้าโป่งทอง เจ้าโป่งทองได้ถูกนำไปเลี้ยงตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ค่ายทหารลพบุรี สวนสัตว์เขาดิน และสุดท้ายกลับมาที่บ้านศูนย์ศึกษาเขาน้ำพุ ในปี 2521 ทางศูนย์ฯ ได้วัวแดงเพศผู้มา 2 ตัว โป่งทองได้ขยายพันธุ์และสืบทอดลูกหลานจนถึงปัจจุบัน ผ่านไปหลายทศวรรษ เจ้าโป่งทองได้จากไปตามกาลเวลา แต่สายเลือดวัวแดงที่บริสุทธิ์ก็ยังคงไหลเวียนของตัวลูกหลาน ช่วงเวลานี้ได้เกิดวิกฤตการณ์การต่อสายพันธุ์ของวัวแดงไทย ประชากรวัวแดงบนโลกลดลงจนเหลือไม่ถึง 500 ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์บนโลก ทำให้วัวแดงตกไปอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในทันที จากสภาวะเช่นนี้ได้ทำให้เกิดความกังวลจากกลุ่มคนนักอนุรักษ์ จนเกิดการรวมตัวกันในนามมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในสังคม เพื่อการอนุรักษ์วัวแดงและปล่อยวัวแดงจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ กลับคืนสู่ผืนป่าสลักพระ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกจากประวัติศาสตร์ของวงการนักอนุรักษ์ในประเทศไทย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated