“กินฟ้าทะลายโจรไม่หาย...ไปหาหมอให้ยาที่เป็นเคมีจึงหาย” สรุปเกษตรไทยต้องพึ่งสารเคมี?
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ...กำลังบรรยายบนเวที

เช้าวันที่ 31 มีนาคม 2560 ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ คับคั่งไปด้วยผู้คนในวงการเกษตร ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงข้าราชการระดับสูง เพราะว่ามีเสวนาวิชาการ เรื่อง “การเกษตรไทย ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จริงหรือ?” โดยผู้จัดคือ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้ระดมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ประกอบด้วย ดร.ศุภชัย สุทธิเจริญ เกษตรกรอิสระ ที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ นายกสมาคมพืชวิทยาแห่งประเทศไทย คุณพิศาล พงศาพิชฌ์ รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ คุณวัชรีภรณ์ พันธุภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืช ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณวีระชัย ประทักษ์วิริยะ ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตร คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้แทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และมีคุณเขมสรณ์ หนูขาว จากไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ได้รับความสนใจากบุคคลในวงการเกษตรประมาณ 300 คน
ได้รับความสนใจากบุคคลในวงการเกษตรประมาณ 300 คน

และแน่นอนที่สุดว่างานนี้ ได้เชิญ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มาเป็น 1 ในวิทยากรด้วย

หัวข้อเสวนาวันนี้
หัวข้อเสวนาวันนี้

ก่อนที่จะบอกเล่าบรรยากาศตามเรื่องที่ได้จั่วหัวไว้ ผมขอนำข้อมูลเบื้องต้นมารายงานก่อนว่า เวลานี้ประเทศไทยเรามีพื้นที่ทำการเกษตร 149 ล้านไร่ มีแรงงานในภาคเกษตร 17 ล้านคน แต่ละปีภาคเกษตรทำรายได้ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท (อ้างอิง/สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 3 แสนไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.17% ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ 148.73 ไร่ มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูในการผลิตสินค้าเกษตร หรือคิดเป็นร้อยละ 99.83% ในแต่ละปีมีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก เฉพาะในปี 2559 ตัวเลขอยู่ที่ 154,568 ตัน

สาเหตุหลักที่เกษตรกรเลือกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะเห็นผลเร็ว พืชโตเร็ว ผลผลิตมากขึ้นและขนาดผลใหญ่ขึ้น อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรฯลฯ ในขณะที่การทำการเกษตรอินทรีย์ จะเห็นผลช้า ผลผลิตได้ไม่มากเท่าที่ควร และยังต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก เช่น ไม่ติดกับแปลงที่ใช้สารเคมีเป็นต้น

หลังจากที่ได้รับรู้ตัวเลขต่างๆและข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ผมก็ขอวกมาที่บรรยากาศการเสวนา ซึ่งก็ได้เปิดฉากขึ้นจากการเปิดโอกาสให้วิทยากรแต่ละท่านได้พูดถึงบทบาทหน้าที่ว่าเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานในเรื่องพืชอาหารอย่างไร และจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่…แต่ดูเหมือนว่าแต่ละท่านก็จะพูดไปตามบทบาทในงานของตนเองเสียมากกว่า ไม่ค่อยจะแตะเข้าเรื่องที่กำหนดไว้สักเท่าไหร่ มีบ้างก็ประปราย หาคำตอบยังไม่ได้…

คุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกร จากสุพรรณบุรี ขึ้นแสดงความคิดเห็นบนเวที
คุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกร จากสุพรรณบุรี ขึ้นแสดงความคิดเห็นบนเวที

ก็ไม่รู้ว่าหัวข้อที่ตั้งวันนี้ตั้งผิดหรือว่าวิทยากรพูดไม่ตรงประเด็น หรือว่าผู้ดำเนินรายการไม่กล้าซักก็ไม่รู้ได้…สุดท้ายเกษตรกรผู้ฟังชักทนไม่ไหว นั่นก็คือ คุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม จ.สุพรรณบุรี บอกว่าเมื่อไรจะเข้าเรื่องสักที รอมานานแล้ว พร้อมกันนั้นได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีความจำเป็น “ถ้าไม่ให้ใช้จะมีตัวอื่นทดแทนไหมละ” และประโยคเด็ด “ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้าผมก็คิดว่ายังจำเป็นต้องใช้สารเคมี” เล่นเอาบนเวทีไปไม่ค่อยถูกเหมือนกัน

จนสุดท้ายการเสวนาบนเวทีได้จบลง แต่ช้าก่อน ยังต้องรอคอยอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่วันนี้ถือคติ “มาช้าดีกว่าไม่มา” เพราะท่านติดภารกิจกะทันหันทันด่วน จน ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้ขึ้นมาทำหน้าที่บนเวทีต่อ และได้เชิญตัวแทนเกษตรกรมาขึ้นเวที ซักถามกันไปมาก็พอได้ข้อสรุปว่า สารเคมีศัตรูพืชยังมีความจำเป็นต่อการเกษตรประเทศไทย แต่คนที่จะยืนยันได้หนักแน่นไม่มีใครเท่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมาทันตอนท้ายพอดี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่พูดพร่ำทำเพลง บอกเลยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ยึดมั่นในนโยบายของรมว.เกษตรฯ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเน้นมาตรฐานสินค้าเกษตรที่จะต้องมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องเข้มงวดให้มีการใช้อย่างถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กำหนดให้ใช้ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตกี่วัน และใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร...ชัดๆตรงไปตรงมา
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร…ชัดๆตรงไปตรงมา

“ก่อนที่จะมานี้ก็เป็นไข้หวัด 2-3 วัน ได้กินฟ้าทะลายโจร แต่มันไม่หาย สุดท้ายได้ไปหาหมอ ก็ให้ยามาเป็นยาเคมี ทานเข้าไปก็หาย แต่ก็ต้องทานตามหมอสั่งมื้อละกี่เม็ด…จึงบอกว่าสารเคมีจำกัดศัตรูพืชยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเกษตรประเทศไทยที่เน้นการผลิตอาหารเพื่อส่งขายชาวโลก แต่ก็ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม” (เป็นคำพูดที่อธิบายได้เห็นภาพมากๆ)

นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามไม่ให้เกิดผลเสียในระบบ ทั้งในตลาดตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั้งในตลาดสด รวมทั้งแปลงปลูกพืชของเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP (เกษตรดีที่เหมาะสม) จะต้องนำตัวอย่างพืชมาตรวจสอบเป็นระยะๆ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การควบคุมสินค้าสารเคมี พวกรถเร่หรือรถขนส่งเคลื่อนย้ายต่างๆ จะสร้างเครือข่ายสารวัตรเกษตรดูแลในระดับพื้นที่อย่างเข้มข้นที่สุด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรถ่ายภาพร่วมกับผู้จัดและวิทยากร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ถ่ายภาพร่วมกับผู้จัดและวิทยากร

“เราต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่าพื้นที่ทำการเกษตร 149 ล้านไร่ของเรา ต้องผลิตพืชเศรษฐกิจ หรือพืชอาหารชนิดต่างๆ ซึ่งประเทศเรามีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นเดียวกับโรคแมลงต่างๆที่เกิดขึ้นก็หลากหลายเช่นกัน แต่เราจะต้องควบคุมหรือใช้สารเคมีให้เกิดความสมดุล ให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และเกิดความปลอดภัย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในที่สุด

ผมก็คงไม่ต้องสรุปอีกว่า การเกษตรของประเทศไทยยังต้องอาศัยหรือพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่ เพราะว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรตอบอย่างชัดเจน…ตรงไปตรงมาที่สุดแล้วครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated