ก้าวไปด้วยกัน...กรมหมอดินดันสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่มาตรฐานสากลด้วย PGS
กรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้าผลักดันดันสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่มาตรฐานสากลด้วย PGS

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้แทนในการลงนามความร่วมมือกับธนาคาร พัฒนาแห่งเอเซีย ภายใต้โครงการ TA-REG 8163 Implementing the GMS Core Agriculture Support Program, Phase II และมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย (มกอท. (Thai Organic Agriculture Foundation, TOAF) เป็นองค์กรสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ในการพัฒนากลุ่มเกษตรอินทรีย์ด้วย กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems, PGS) มีเป้าหมายการยอมรับของตลาดภายในประเทศ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยกระบวนการตรวจและรับรอง ใช้หลักการ PGS, IFOAM และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (Thai Standard Agriculture) มกษ.9000

ข้าวอินทรีย์ที่กรมพัฒนาที่ดินให้การส่งเสริม
ข้าวอินทรีย์ที่กรมพัฒนาที่ดินให้การส่งเสริม

ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเข้าการรองรับเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมแล้วใน 5 จังหวัด 5 กลุ่มนำร่อง ประกอบด้วย กลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ทัพไทย จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มอินทรีย์สุขใจ พี จี เอส จังหวัดนครปฐม กลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ พี จี เอส จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มสหกรณ์สมุนไพรแม่มอก พี จี เอส จังหวัดลำปาง และกลุ่มสหกรณ์ เกษตรอินทรีย์เพชรบูรณ์จำกัด ได้ทำการเกษตรผสมผสานในระบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยครัวเรือนละ 200,000 บาท และ กรมฯได้มีการลงนามความร่วมมือพัฒนาและขยายช่องทางการตลาดผลไม้คุณภาพเพื่อเข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ ผ่านการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS ระหว่าง กลุ่มเกษตรกรชาวสวนบ้านหัวอ่าว ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม กับ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม บริษัทเซ็นทรัลฟู้ดส์รีเทล จำกัด มูลนิธิพระยูไลไภษัชย์สงเคราะห์ สหกรณ์การเกษตร อ.สามพราน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.สามพราน กลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง และมูลนิธิสังคมสุขใจ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้ได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานสากล โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีแปลงเกษตรอินทรีย์ขนาดเล็ก ได้มีการร่วมกลุ่ม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้ระหว่างกัน การช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงช่องทางการตลาด เพื่อสร้างความเข้มเเข็งให้แก่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ในประเทศ การรวมกลุ่ม PGS จะส่งผลให้สมาชิกมีเวทีพัฒนากระบวนการทางสังคม กระบวนการผลิต การตลาด ความสัมพันธ์ที่ดีของเครือข่าย PGS และผู้บริโภค ทำให้เกิดการพัฒนาการเกษตรที่ผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพ รวมถึงเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งเเวดล้อมไปพร้อมๆกัน โดย PGS จะช่วยเสริมการพัฒนากลุ่มให้มีระบบและทิศทางที่ชัดเจน เพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันให้แก่เกษตรอินทรีย์ ทำให้แนวโน้มว่าระบบ PGS จะช่วยส่งเสริมการค้าเกษตรอินทรีย์ในอนุภาคลุ่มน้ำโขงอีกด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated