คุมเข้มยาปฏิชีวนะในสัตว์...กรมปศุสัตว์แนะซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน
กรมปศุสัตว์ ร่วมกันแถลงข่าว คุมเข้มยาปฏิชีวนะในสัตว์...

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง ภาคปศุสัตว์ย้ำคุมเข้มการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ แนะผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานปลอดภัย” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารที่ 24 มกราคม 2560 เพื่อตอกย้ำคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรของไทย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการรายงานทางวิชาการและมีข่าวสารเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพโดยเฉพาะการตรวจพบยีนดื้อยา Colistinmcr-1 ในประเทศจีนนั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ โดยได้มีหนังสือแจ้งไปยังภาคเอกชน สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย สัตวแพทยสภาสมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม เป็นต้น เพื่อขอให้ควบคุมและลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ โดยเฉพาะ Colistinโดยให้ใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น (เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาสัตว์) ไม่ให้ใช้ในการควบคุมหรือป้องกันโดยปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานการถ่ายทอดยีนดื้อยาดังกล่าวระหว่างมนุษย์และสัตว์ในประเทศไทยและกรมปศุสัตว์ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ในการพิจารณาดำเนินการ ทบทวนทะเบียนสูตรตำรับยาและข้อบังคับใช้ยา Colistinให้เหมาะสมโดยยาดังกล่าวยังอนุญาตให้ใช้ได้ทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น แต่ต้องควบคุมการใช้โดยสัตวแพทย์ และมีสูตรตำรับยาที่เหมาะสมกับสัตว์จำกัดช่องทางการกระจายยาโดยเฉพาะเภสัชเคมีภัณฑ์เพื่อควบคุมไม่ให้ลักลอบซื้อขายมาใช้ในฟาร์มซึ่งอย.อนุญาตให้นำไปผลิตเป็นยาบรรจุเสร็จในโรงงานเท่านั้นและจำกัดปริมาณการขายยา Colistin ให้ลดลงอย่างน้อย 70% ทั้งยังประสานไปยังสัตวแพทยสภาและสมาคมที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลให้สัตวแพทย์เป็นผู้พิจารณาการใช้ยาอย่างรอบคอบและมีเหตุผลโดยเฉพาะสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ดูแลสุขภาพสัตว์ในฟาร์มนั้น ๆ

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรมปศุสัตว์บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้ใช้ยาสัตว์และอาหารสัตว์ที่ผสมยาหรือสารต้องห้ามที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวดโดยในปี 2559 มีการจับกุมดำเนินคดีมากกว่า 100 ราย โดยมีการยึดยา Colistin เถื่อนที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ด้วยซึ่งปัจจุบันในการเลี้ยงสุกรยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในลูกสุกรเพื่อป้องกันหรือควบคุมไม่ให้เกิดโรค กรมปศุสัตว์ร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริม สนับสนุนแนะนำให้จัดทำระบบการเลี้ยงที่สามารถป้องกันโรคได้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจและลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และได้ร่วมกับภาคเอกชนในการศึกษาวิจัยและทดลองภาคสนามในการใช้สมุนไพร Probiotic Prebiotic หรือสารจากธรรมชาติมาทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งผลการวิจัยมีแนวโน้มว่าสามารถใช้ในการป้องกันควบคุมโรคได้ทั้งยังได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการ ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมในภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงโดยกรมปศุสัตว์จัดทำโครงการร่วมกับองค์กรสากล เช่น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งประชาชาติ (FAO) ในการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงของเชื้อดื้อยาในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์และโครงการอื่น ๆ เพื่อเป็นการซักซ้อมและให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญกรมปศุสัตว์เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยา (พ.ร.บ.ยา 2510) เพื่อให้สามารถในการกำกับดูแลเภสัชเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าไปในฟาร์มได้ และการขายยาสัตว์บางชนิดต้องขายยาให้ผู้มีใบสั่งซื้อมาจากสัตวแพทย์และได้ควบคุมการนำยาปฏิชีวนะไปผสมในอาหารสัตว์ โดยใช้พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ในการควบคุม โดยกำหนดให้มีสัตวแพทย์ประจำโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งสัตวแพทย์เท่านั้นที่จะสั่งให้มีการผสมยาในอาหารสัตว์ได้โดยต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับสัตว์และมีข้อบ่งใช้สำหรับผสมอาหารสัตว์เท่านั้น

ยาปฏิชีวนะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จำเป็นในการควบคุม รักษาโรคทั้งในมนุษย์และสัตว์ แต่ต้องมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและมีการใช้อย่างถูกต้อง การเลี้ยงสัตว์ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการฟาร์มที่ดี มีการควบคุมการใช้ยาเท่าที่จำเป็น ให้ความสำคัญกับระบบควบคุมโรคและไม่นำยาปฏิชีวนะที่มีคุณค่าในการรักษาโรคในมนุษย์มาใช้ทดแทนการจัดการฟาร์มที่ไม่ถูกต้องจะสามารถป้องกันปัญหาการถ่ายทอดการดื้อยาระหว่างมนุษย์และสัตว์ได้ กรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญกับการจัดระบบฟาร์มมาตรฐาน โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทางปศุสัตว์มีความสะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภค” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated