แนะ 3 วิธีปราบ “ด้วงแรดมะพร้าว” ให้สิ้นซาก...เกษตรกรทำได้ทันที
ด้วงแรดมะพร้าว ... ชอบกินยอดมะพร้าวจนโกร๋นยืนต้นตาย...ต้องทำลายมันไป

มันมาได้เกือบทุกเวลา เพราะนี่คืออาหารอันโอชะของมันกรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรเฝ้าระวังสวนมะพร้าว ในช่วงอากาศร้อน ลมกระโชกแรง มีฝนตกหนัก และหนาวในเวลากลางคืน ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวเฝ้าระวังด้วงแรดมะพร้าว มักเข้าทำลายได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นมะพร้าว เพราะฉะนั้น นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะนี้คืออาหารอันโอชะของมัน…และถูกทำลายมากมะพร้าวอาจถึงตายได้

ดูกันชัด...ศัตรูหมายเลข 1 ของมะพร้าว
ดูกันชัด…ศัตรูหมายเลข 1 ของมะพร้าว

วิธีสังเกต

ให้สังเกตการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว จะพบตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว โดยเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด กรณีถูกทำลายมาก ใบใหม่แคระแกรน รอยแผลถูกกัดเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด

สำหรับในระยะตัวหนอน จะพบตามพื้นดินบริเวณกองปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ซึ่งตัวหนอนจะเจาะชอนไชกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้ยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกรน ไม่เจริญเติบโต

ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวเข้าทำลาย (ภาพนี้จากสวนคุณชะออม น้อยปั่น จ.นนทบุรี) https://goo.gl/lzfxbs)
ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวเข้าทำลาย (ภาพนี้จากสวนคุณชะออม น้อยปั่น จ.นนทบุรี…เรื่องราวของสวนนี้จะอยู่ในลิงก์ ตรงหมายเหตุท้ายนี้)

วิธีป้องกันกำจัด

หากพบการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน 3 วิธี  คือ วิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี

  1. สำหรับวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นมะพร้าวบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ กรณีมีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว หรือกองให้เป็นที่แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรดมะพร้าว หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้งทันที

ส่วนลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย

กรณีต้นมะพร้าวที่ถูกตัดแล้วยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงมาวางไข่ โดยให้ตัดทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ วางเรียงรวมกันไว้ให้เปลือกมะพร้าวติดกับพื้นดิน เพราะด้วงจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว จากนั้น ให้เกษตรกรเผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว สำหรับตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วราดให้ทั่วตอเพื่อป้องกันการวางไข่ได้

  1. นอกจากนี้ การใช้ชีววิธีในการกำจัด ให้เกษตรกรใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมใส่ตามกองขยะ-ปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงอาศัยอยู่ และเกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด ซึ่งเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายในทุกระยะการเจริญเติบโตของด้วงแรดมะพร้าว
  2. ส่วนการใช้สารเคมีในต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปี ที่ยังไม่สูงมากนัก ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว

กรณีระบาดมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี หรือสารไดอะซินอน 60% อีซี หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตร ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้งในช่วงระบาด

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : ธันวาคม 2559)

หมายเหตุ: ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวเข้าทำลายจากภาพประกอบด้านบนนี้ เป็นสวนของคุณชะออม น้อยปั่น ซึ่งมีประสบการณ์ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม 40 ปี ที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี…อ่านเรื่องราวได้ที่ https://goo.gl/lzfxbs)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated