มันมากับฝน...2 โรคถั่วฝักยาว “ใบจุด-ราสนิม” แก้ได้
ช่วงหน้าฝนนี้ เกษตรกรต้องเฝ้าระวัง โรคใบจุด และโรคราสนิม มักเกิดได้ง่ายๆ

กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วฟักยาวเฝ้าระวัง 2 โรคที่มักเกิดในช่วงฤดูฝนนี้ นั่นก็คือ “โรคใบจุด” ที่เกิดจากเชื้อราเซอโคสปอร่า และ “โรคราสนิม” ที่เกิดจากเชื้อรายูโรมายเซส สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วฝักยาว

วิธีสังเกตโรคและป้องกันแก้ไข

โรคใบจุด จะพบจุดแผลสีน้ำตาลปนแดงขนาดเล็กที่ใบล่างใกล้ผิวดิน ต่อมาแผลขยายใหญ่กลมสีน้ำตาล ขอบแผลไม่สม่ำเสมอ  กลางแผลมีจุดไข่ปลาเล็กสีเทาดำเรียงเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ถ้ารุนแรง แผลกระจายทั่วบนใบ และพบเชื้อราขึ้นปุยสีน้ำตาลเข้มที่หลังใบ ใบแห้งกรอบ และร่วง ลำต้นชะงักการเจริญ เติบโต ผลผลิตลดลง หากพบโรค ให้เกษตรกรตัดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทโอฟาเนต-เมทิล 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน

แปลงปลูกที่ดูแลจัดการดีจะช่วยป้องกันโรคได้
แปลงปลูกที่ดูแลจัดการดีจะช่วยป้องกันโรคได้

โรคราสนิม พบในระยะถั่วฝักยาวเริ่มออกดอก โดยมากพบบริเวณใต้ใบแก่เหนือผิวดินก่อนแล้วค่อยลามขึ้นด้านบนของลำต้น มักมีจุดแผลสีเหลืองซีด กลางแผลมีตุ่มนูนสีน้ำตาลแดง รอบแผลสีเหลือง ต่อมาตุ่มนูนขยายใหญ่จนปริแตกออกเป็นผงสีน้ำตาลแดงคล้ายสีสนิม หากรุนแรง จะพบแผลกระจายทั่วทั้งใบ ใบเหลือง และหลุดร่วง กรณีพบโรค ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะดิมีฟอน 20% อีซี อัตรา 10-15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน+ไดฟีโนโคนาโซล 20%+12.5% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน

นอกจากนี้ ในแปลงปลูกถั่วฝักยาวที่มีการระบาดของทั้ง 2 โรค เมื่อสิ้นสุดฤดูปลูกหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วฝักยาว เรียบร้อยแล้ว เกษตรกรควรทำความสะอาดเก็บต้น เก็บกวาดเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรค และกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดปริมาณการสะสมเชื้อสาเหตุของโรคไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเพาะขยายพันธุ์ข้ามฤดูกาล ลดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุโรค และสามารถลดการเกิดโรคได้ หลีกเลี่ยงการให้น้ำในช่วงเย็นหรือช่วงใกล้ค่ำ ในฤดูปลูกถัดไป ไม่ควรปลูกถั่วฝักยาวแน่นจนเกินไป ควรปรับระยะปลูกให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก และมีแสงแดดส่องผ่านแปลงปลูกได้

(ข่าว : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร/กันยายน 2559)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated