ทึ่ง “เครื่องผ่าหลังกุ้ง” เร็วกว่าคน 2.67 เท่า นิสิตวิศวะ ม.เกษตรฯ ทำได้
เจ้าของผลงาน เครื่องผ่าหลังกุ้ง กับอาจารย์ที่ปรึกษา...

กุ้ง เป็นสัตว์น้ำที่คนไทยนิยมบริโภคกันมาก และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งยังทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท การที่จะนำกุ้งไปรับประทานหรือนำไปแปรรูป มักจะพบปัญหาในการปอกเปลือกออกจากตัวกุ้ง และการผ่าหลังกุ้ง ซึ่งหากไม่มีความชำนาญหรือไม่มีประสบการณ์ในการปอกจะใช้เวลานาน หากใช้มีดในการช่วยปอกบางครั้งมีดอาจจะบาดมือได้

ดังนั้นการสร้างเครื่องผ่าหลังกุ้ง จะแก้ปัญหาการผ่าหลังและปอกเปลือกกุ้งให้ง่าย สะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัย และที่สำคัญได้ปริมาณมาก เป็นการลดต้นทุนและค่าแรงงาน

น.ส. ณัฐสิมา นาคบุตร น.ส. ธัญญลักษณ์ สุทธนะ และ น.ส. มณีรัตน์ เหลืองทรงชัย นิสิตภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาออกแบบและสร้างเครื่องผ่าหลังกุ้ง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประหยัดต้นทุนแรงงาน โดยมี อ.ดร.วรศักดิ์  สมตน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ในเบื้องต้นนิสิตทั้ง 3 คน ได้ทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพของกุ้ง ที่ใช้ในการทดลองกับเครื่องที่สร้าง โดยได้วัดขนาด ความกว้าง ความยาว และความหนาของตัวกุ้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องผ่าหลังกุ้ง โดยออกแบบให้ตัวเครื่องมีขนาดกระทัดรัด ชิ้นส่วนต่าง ๆ สามารถถอดประกอบได้ง่าย เพื่อให้สะดวกในการทำความสะอาดหลังการใช้งาน

เครื่องผ่าหลังกุ้ง ได้รับรางวัลผลงานดีเด่น
เคยได้รับเกียรติบัตรนำเสนอผลงานดีเด่น ในการประชุมวิชาการวิศวกรรมอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อ 19 เมษายน 2559

เผย ผ่าเร็วกว่าคน 2.67 เท่า

เครื่องผ่าหลังกุ้งที่ออกแบบประกอบด้วย ชุดป้อนกุ้งมีลักษณะเป็นลูกกลิ้งบากร่องตรงกลางจำนวน 2 ตัว คือ ตัวเล็กและตัวใหญ่ ซึ่งทำจากแท่งซุปเปอร์ลีน โดยลูกกลิ้งทั้งสองตัวทำหน้าที่ดึงและประคองตัวกุ้งเข้าสู่กลไกการผ่า ซึ่งเป็นแผ่นใบมีดกลมที่หมุนอยู่ตลอดเวลาขณะเครื่องทำงาน โดยมีมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 90 วัตต์ เป็นต้นกำลังในการหมุนชุดลูกกลิ้งและใบมีด (ภาพที่ 1) จากการทดสอบผ่ากุ้งจำนวน 100 ตัว พบว่าใช้เวลา 3.02 นาที หรือคิดเป็นอัตราการผ่าหลังกุ้งประมาณ 1,900 ตัวต่อชั่วโมง โดยกุ้งที่ผ่าได้นั้น พบว่าสามารถผ่าได้ตรงกึ่งกลางหลังกุ้งพอดี ซึ่งเร็วกว่าการใช้คนผ่าถึง 2.67 เท่า และสามารถผ่าได้ตรงกึ่งกลางหลังกุ้งพอดี จำนวน 75 ตัว หรือ 75 % ความยาวและความลึกของรอยผ่าเฉลี่ย เท่ากับ 5.22 และ 0.79 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะที่สามารถปอกเปลือกกุ้งและดึงเส้นดำออกได้ง่าย สำหรับกุ้งที่ใช้ในการทดสอบคือ กุ้งลาดำ และกุ้งขาวแวนนาไม (กุ้งขาว)

ดูกับชัดๆ ระบบของเครื่องผ่าหลังกุ้ง
ดูกับชัดๆ ระบบของเครื่องผ่าหลังกุ้ง

นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของนิสิตภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ได้คิดค้น และทำการศึกษาออกแบบและสร้างเครื่องผ่าหลังกุ้ง เพื่อให้ปอกเปลืองได้ง่าย เพิ่มกำลังการผลิต รวดเร็วขึ้น และเป็นการประหยัดต้นทุนค่าจ้างแรงงานด้วย

สนใจเครื่องผ่าหลังกุ้ง….สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 034 -281-098 หรือ email: fengwss@ku.ac.th

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated