มะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย จะครองเบอร์ 1 โลก ได้นานแค่ไหน?
มะพร้าวสีส้ม (บางคนก็ว่า สีเหลืองทอง) หรือบ้านเราเรียกว่า "มะพร้าวไฟ" ตามข้อมูลบอกว่ามีต้นกำเนิดมาจากศรีลังกา และได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์มะพร้าว แสดงถึงความเป็นพืชที่มีความสำคัญมากๆ (ภาพจาก www.go4get.com โดย Kriangkrai Su)

หมายเหตุ เกษตรก้าวไกลดอทคอม : วันเสาร์ที่ 21 พ.ค. 59 ที่ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน จะมีการจัดสัมมนา มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกรไทย เพื่อให้มีข้อมูลที่หลากหลาย จึงขอนำเรื่องตลาดมะพร้าวน้ำหอมในต่างประเทศมานำเสนอ อนึ่ง การสัมมนา ค่าลงทะเบียน 1,000 บาท ผู้สนใจ ติดต่อ โทร. 081 3090599, 089 7877373 หรือ อีเมล์ lungpornku2@gmail.com หรืออ่านเพิ่มเติมที่  http://goo.gl/BE0o4x

วิจัยพัฒนาศักยภาพมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกอย่างครบวงจร
รศ.ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ ได้ใช้เวลา 5 ปีเต็มๆ เพื่อการวิจัยพัฒนาศักยภาพมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกอย่างครบวงจร

เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.59) ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมรายหนึ่ง และไม่กี่วันก่อนนั้นก็เคยจับเข่าคุยกับผู้ส่งออกอีกราย ทำให้ทราบว่าตลาดต่างประเทศเติบโตมาก

“หากเอ่ยชื่อว่ามะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย หรือ “Aromatic coconut from THAILAND” จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมาก” คือคำยืนยันจากผู้ส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของเราคือ ประเทศจีน แต่มา 2-3 ปีหลังมานี้ จีนได้ส่งคนของตนเองเข้ามาตั้งโรงงานร่วมกับคนไทย และเปิดรับซื้อมะพร้าวน้ำหอมเพื่อส่งออกไปประเทศจีนและประเทศอื่นๆอีกที

ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ในมุมของผู้ส่งออกสัญชาติไทยแล้วนั้นบอกว่า พ่อค้าจีนเหล่านี้เข้ามาถึงก็รวบรวมผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรไทยเข้าไปเป็นเครือข่าย (หลายคนก็หันไปร่วม…ทำให้ผู้ส่งออกคนไทย ต้องดูแลเกษตรกรในเครือข่ายกันเป็นอย่างดี-เกษตรกรเป็นต่อมาก) โดยเสนอราคาเป็นสิ่งล่อใจ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่มีการแข่งขันกันโดยเสรี แต่ไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมดเมื่อมะพร้าวมีราคาดี พ่อค้าที่เห็นแก่ได้ก็มาฉวยโอกาสตัดมะพร้าวที่ยังอ่อนเกินขนาดที่จะส่งออกได้ เหมือนข่าวการตัดทุเรียนอ่อนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกว่าจะแก้ไขภาพลักษณ์ตรงนี้ได้ก็ใช้เวลาหลายปี

นี่ยังไม่นับวงจรการส่งออกของคนไทยที่เคยมุ่งตลาดจีนต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ จากที่เคยขายแต่ผลสดก็ต้องนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และในขณะเดียวกันก็ต้องไปหาตลาดใหม่ๆ เช่น ยุโรป รัสเซีย อเมริกา แอฟริกา ฯลฯ ซึ่งก็นับว่ายังโชคดีที่กลุ่มประเทศเหล่านั้น นิยมชมชอบมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทย

“ตอนนี้ตลาดจีนของเราเองมีแค่ 50 % จากที่เคยส่งออกจีนเป็นหลัก โดยสามารถส่งผลผลิตได้ในช่วงปกติเดือนละประมาณ 30 ตู้ แต่เวลานี้ส่งได้ไม่ถึง เพราะแย่งกันและผลผลิตขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง” ผู้ส่งออกกล่าว

ร้านขายมะพร้าวที่ศรีลังกา
ร้านขายผลไม้ของศรีลังกา ขาดไม่ได้ที่จะต้องมีมะพร้าวสีส้มมาวางขายโชว์หน้าร้าน (ขอบคุณภาพจาก www.go4get.com โดย Kriangkrai Su)

จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ตลาดมะพร้าวน้ำหอมในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็นั่นแหละหากยังมีการฉวยโอกาส ความยั่งยืนจะมีหรือไม่ โดยเฉพาะเวลานี้ มะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทยขายได้ราคาสูงที่สุด อย่างเช่น ในจีน ลูกละประมาณ 70 บาท ถ้าเป็นในยุโรปลูกละ 100 บาทขึ้นไป ในขณะที่มะพร้าวจากประเทศคู่แข่ง อย่างเช่น เวียดนาม ฟิลิบปินส์ ศรีลังกา อินเดีย ฯลฯ ราคาถูกกว่ากันมาก และประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้ใช้ “ความหอม” เป็นจุดขาย แต่จะเน้นความเป็นมะพร้าวอ่อนสีเขียวที่สด ราคาถูก ฯลฯ

เพื่อให้เห็นถึงความคึกคักของตลาดมะพร้าวน้ำหอม (จะอยู่ในหมวดเดียวกับมะพร้าวอ่อนในการซื้อขายตลาดโลก) ในต่างประเทศ ขอนำข้อมูลจาก ตลาดซื้อขายออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างอาลีบาบา มาเล่าสู่กันฟัง…

พบว่ามีรายการซื้อ-ขาย มะพร้าวทั้งหมด 837 รายการ (7 พ.ค.59) ในจำนวนนี้มีมะพร้าวอ่อน 441 รายการ ประเทศทีมีการโฆษณาซื้อ-ขายมากเป็นอันดับ 1 คือ เวียดนาม 323 รายการ อินเดีย 37 รายการ ไทย 15 รายการ ศรีลังกา 3 รายการ ฯลฯ

ตัวอย่างคำอธิบายมะพร้าวอ่อนรายหนึ่งของเวียดนาม เช่น

“เราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักดิ์ศรีในเวียดนาม มะพร้าวของเราสดหวาน โดยไม่ต้องใส่สารกันบูดหรือสารเคมีเติมแต่งใดๆ ดิบๆเป็นธรรมชาติ ด้วยน้ำหวานและเนื้อที่ใช้สำหรับการดื่มและการรับประทานเป็นอาหารโดยตรงหรือการทำมะพร้าวมูทตี้ และเป็นประโยชน์มากสำหรับสุขภาพของคุณ,  ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเราจะถูกส่งออกไปยังยุโรปและเราได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้นำเข้าทั่วโลก”

ตัวอย่างคำอธิบายมะพร้าวอ่อนรายหนึ่งของอินเดีย  เช่น

“มะพร้าวอ่อนของเราสดจากสวนและฟาร์มของเกษตรกร…มะพร้าวเป็นที่รู้จักสำหรับคุณค่าทางโภชนาการสูง, เป็นเครื่องดื่มของผู้มีรสนิยมและประเพณีอันหลากหลาย, มะพร้าวเป็นพืชของโลกที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารที่แตกต่างกัน”

และอีกคำอธิบายหนึ่งที่คล้ายๆกัน “มะพร้าวเป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่เพียงแต่อาหารของภูมิภาคที่มันจะเติบโต, ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย ให้มีชีวิตอยู่รอด ให้โปรตีน แคลอรี่ แร่ธาตุ วิตามิน ฯลฯ, รสชาติของมันมาจากเครื่องดื่ม, มาจากการนำไปปรุงเป็นอาหารเป็นน้ำมัน และแม้กระทั่งไฟ (กะลานำมาทำเป็นถ่านให้ความร้อนสูง) กะลายังทำเป็นภาชนะ, ใบให้เป็นวัสดุมุงหลังคา และลำต้นใช้สร้างอาคารบ้านเรือน

มะพร้าววิถีชีวิตศรีลังกา
มะพร้าวเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในศรีลังกา (ขอบคุณภาพจาก www.flickr.com)

ตัวอย่างคำอธิบายมะพร้าวอ่อนรายหนึ่งของศรีลังกา เช่น

“เราได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์มะพร้าว, เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, เป็นธรรมชาติ 100 %, น้ำมะพร้าวจะช่วยให้เย็นลงไปในร่างกายทันทีที่ดื่ม, เราเป็นบริษัทจัดจำหน่ายทั้งในศรีลังกา และทั่วโลก, เรามีรูปแบบผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่หลากหลาย, มะพร้าวช่วยรักษาโรคผื่นผิวหนัง และโรคภูมิแพ้ ฯลฯ”

และยังเน้นย้ำอีกว่า “ระบบปลูกของเราเป็นธรรมชาติ ,เราปลูกเป็นแหล่งท่องเที่ยว เราจะไม่สร้างความเสียหายระหว่างการเพาะปลูก

ทั้งหมดที่นำมายกตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงตลาดแข่งขัน ที่เน้นเรื่องของคุณภาพมะพร้าวอ่อนล้วนๆ ยังไม่นับรวมการแข่งขันเรื่องบรรจุภัณฑ์และการบริการขนส่งต่างๆ

อีกเรื่องหนึ่งในการแข่งขันตลาดมะพร้าวน้ำหอมที่มองผ่านอาลีบาบา คือ จะมีการแบ่งประเภทการเพาะปลูก พบว่ามีการปลูกแบบอินทรีย์ถึง 70 รายการ (สูงขึ้นจากอดีตมาก) โดยเฉพาะเวียดนามจะมีการอธิบายในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน แสดงถึงกระแสของผู้บริโภคที่เน้นอาหารปลอดภัย

สีสันมะพร้าวศรีลังกา
สีสันมะพร้าวศรีลังกา (ขอบคุณภาพจาก www.thai.alibaba.com)

ประเทศไทยของเรา ถือว่าโชคดีมากที่เราไม่ต้องแข่งขันกันอย่างหนัก ของเราเพียงแค่ประทับตราว่า “มะพร้าวอ่อนน้ำหอมจากประเทศไทย” ก็กินขาด ทุกเชื้อชาติต่างยอมรับว่าน้ำมะพร้าวของเราหอมหวานอร่อยที่สุดในโลก แต่เอกลักษณ์ความเชื่อถือนี้จะยืนยาวแค่ไหน ในเมื่อความไม่แน่นอนของการผลิตยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมาก ดังเช่นเวลานี้เรากำลังศึกษาเรื่องของการผลิตว่าทำอย่างไรให้ติดผลดี และมีน้ำหอมหวานสม่ำเสมอ

“วันนี้เราจะภูมิใจอยู่กับอดีตที่บรรพบุรุษของเราได้สะสมภูมิปัญญา คัดเลือกพันธุ์มะพร้าวที่ดีที่สุดมาให้เราเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องทำการศึกษาวิจัยปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยใช้วิชาการสมัยใหม่เข้ามาช่วย อย่างเช่น ความหวาน จะต้องหวานระดับใด หรือความหอมจะหอมระดับไหน ยีนตัวไหนที่ทำให้หอม ทำอย่างไรให้คุณค่าที่เรามีอยู่มีความสม่ำเสมอ และเราจะทำอย่างไรให้อาชีพของเรามีความยั่งยืนสืบทอดไปยังลูกหลาน” รศ.ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาศักยภาพมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกอย่างครบวงจร ได้ให้ความคิดเห็นแก่ผู้เขียนเมื่อเร็วๆนี้

ทั้งหลายทั้งหมดนี้ ก็อยู่ที่คนไทย เราจะเป็น “มหาอำนาจทางการเกษตร” ได้หรือไม่ก็อยู่ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน…เรามาช่วยกันศึกษาหาหนทาง และมาเติมความรู้ให้กับมะพร้าวน้ำหอมของเรา ให้ยืดหยัดเป็นเบอร์ 1 ของโลกให้ยาวนานที่สุดนะครับ

หมายเหตุ : ภาพที่นำมาประกอบบทความนี้ ขอเน้นมะพร้าวสีส้ม (บ้านเราเรียกมะพร้าวไฟ) ของศรีลังกา ซึ่งได้รับขนานนามว่า พระมหากษัตริย์มะพร้าว (KING COCONUT) หรือ “กษัตริย์มะพร้าว” เพราะดูสวยงามและมีสีสันดี…ขอขอบคุณภาพมา ณ โอกาสนี้

(อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก https://thai.alibaba.com/g/young-coconut-export.html)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated