มะพร้าวน้ำหอมว่ายน้ำไปขึ้นรถ
มะพร้าวน้ำหอมที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กำลังว่ายน้ำไปขึ้นรถที่จอดรออยู่ เพื่อที่จะเดินทางไปต่างประเทศต่อไป

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ …ผมได้มีโอกาสไปฟังสัมมนา “เกษตรศาสตร์นำไทย สู้ภัยแล้ง” ที่สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อฉลอง “วันเกษตรศาสตร์” โดยมีวิทยากรที่ล้วนเป็นศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน รักษาการอธิการบดี, คุณสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน, ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์, ผศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์  และมี อาจารย์เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการใหญ่วารสารเคหการเกษตร เป็นผู้ดำเนินรายการ

ประกวดมะพร้าวน้ำหอมและไม้ผลงานเกษตรแฟร์ 59
อาจารย์เปรม ณ สงขลา (แถวยืน/คนที่ 2 จากซ้าย) ผู้ที่จุดประกายว่ามะพร้าวน้ำหอมไทยผลิตอีก 1 แสนไร่ก็ไม่พอ (ในภาพนี้ได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านไม้ผลของไทยเป็นกรรมการตัดสินประกวดผลไม้รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอมในงานเกษตรแฟร์ครั้งที่ผ่านมา/ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค Prem Na Songkhla)

สาระสัมมนามีหลายเรื่องหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่จะขอยกยอดไว้ก่อน เพราะผมคิดว่ามีเรื่องที่น่าตื่นเต้นอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ มะพร้าวน้ำหอมของไทยจะขายดียิ่งกว่าน้ำอัดลมโค้ก …ผู้ที่อยู่ๆเปิดเรื่องนี้ขึ้นมาก็คือ “อาจารย์เปรม” ผู้ดำเนินรายการนั่นเอง (คุยเรื่องภัยแล้งอยู่ดีๆ แต่ไงเป็นมะพร้าวน้ำหอมก็ไม่รู้…)

ผมเองก็เลยรับลูก คงเป็นเพราะเมื่อเมื่อ 4-5 วันก่อน ได้ส่งทีมงานไปลุยสวนมะพร้าวน้ำหอมที่ราชบุรีกับเทสโก้โลตัส ประจวบกับเมื่อวานนี้และ 2 วันก่อนนี้ ผมเดินเที่ยวงานเกษตรแฟร์ได้เห็นมีขายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมหลายเจ้า ครั้นพอได้ฟังเรื่องราวอุบัติขึ้นใหม่ก็เลยจุดติดทันที

อาจารย์เปรมพูดไว้อย่างนี้ “ประเทศไทยของเรามีขุมทองมากมาย…มะพร้าวน้ำหอมคือทอง ต่อให้ปลูกเพิ่มอีก 1 แสนไร่ก็ไม่มีวันพอ เพราะว่าเมื่อวันก่อนได้คุยกับคนสิงค์โปร์ บอกว่า อยากได้มะพร้าวน้ำหอมของไทยส่งไปขายที่อเมริกา เหมือนอเมริกาส่งโค้กมาขายบ้านเรา …เขาบอกว่าในโลกนี้ไม่มีมะพร้าวน้ำหอมที่ไหนดีเท่าประเทศไทย…ผมเองก็ปลูกเพิ่มอีก 30 ไร่ โดยความร่วมมือกับ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) Nectec (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำเป็นเกษตรดิจิทัลจริงๆ ด้วยการใช้วิชาการและเทคโนยีสมัยใหม่…”

และประโยคปิดท้าย อาจารย์เปรม บอกว่า “ทองในไทยมีเยอะ แต่เราขุดไม่เป็น”

ผมได้ฟังยอมรับว่าตื่นเต้นและคิดตามทันที เพราะเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมไปสิงคโปร์ สังเกตเห็นว่ามีร้านที่ขายผลไม้แห่งหนึ่งมีมะพร้าวน้ำหอมขายอยู่ด้วย และที่ข้างๆมีป้ายติดไว้ว่า COCONUT THAILAND ผมก็ถามคนขายว่าลูกละเท่าไร ก็ทราบว่าลูกละ 40 บาท ระหว่างที่กำลังพูดคุยทางไกด์ทัวร์กระซิบกับผมว่า จริงๆอาจจะไม่ใช้มะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย แต่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ (ถ้าจำไม่ผิด) แต่ที่ต้องเขียนป้ายว่าประเทศไทยก็เพราะมะพร้าวน้ำหอมของไทยได้รับความนิยมมากที่สุด ขืนบอกว่ามาจากที่อื่นจะขายไม่ออกหรือขายไม่ได้ราคานั่นเอง

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน
คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน คนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ยืนยันว่าตลาดโตมาก

เมื่อปีก่อนโน้นผมเองก็เคยไปลุยสวนมะพร้าวที่ดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้พูดคุยกับเกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอมที่เคยได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดในงานแห่งหนึ่ง เจ้าของสวนรายนี้บอกว่าจะปลูกมะพร้าวน้ำหอม ต้องเริ่มตั้งแต่พันธุ์ที่นำมาปลูก ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยบอกว่าซื้อมาจากบ้านแพ้วจังหวัดสมุทรสาคร  และเมื่อปลูกแล้วก็ต้องมีการจัดการที่ดี จึงจะได้ผลผลิตที่ดี ตั้งแต่ปลูกมานับ 10 ปี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องตลาด ผิดกับผลผลิตเกษตรตัวอื่นๆ แถมบางช่วงราคาขยับลูกละ 10 กว่าบาท เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางหลายรายมาติดต่อซื้อและ โรงงานแปรรูปเกิดขึ้นในพื้นที่หลายแห่ง และผมได้พูดคุยกับ คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปมะพร้าวน้ำหอม แบรนด์เอ็นซี โคโคนัท บอกว่า บริษัทเป็นผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมแปรรูปรายใหญ่ ผลิตภัณฑ์หลักคือ วุ้นมะพร้าว มะพร้าวควั่น และน้ำมะพร้าว ปีนี้ตลาดส่งออกขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯลฯ

ผมเดินดูในโรงงานเห็นมีคนงานจำนวนมากกำลังนังเจีย นั่งควั่นมะพร้าว และรถขนส่งมะพร้าวที่วิ่งเข้า-ออก รวมทั้งรถยกขนมะพร้าวแปรรูปขึ้นรถบรรทุกหลายคัน แต่ละคันเป็นรถแบบห้องเย็น และที่ด้านหลังโรงงานนั้นเห็นมีเปลือกมะพร้าวสดๆกองเป็นภูเขา แสดงว่ากิจการดีจริงๆ

เหตุผลหลักๆที่ทำให้ธุรกิจของเขาโตวันโตคืน คือ กลุ่มผู้รักสุขภาพในต่างประเทศนิยมหันมาบริโภค “น้ำนมจากสวรรค์” กันมากขึ้น และในขณะเดียวกันตลาดในประเทศก็ขยายตัวควบคู่กับการส่งออก โดยส่งไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง

คุณประยูร วิสุทธิไพศาล
คุณประยูร วิสุทธิไพศาล กับกล่องบรรจุมะพร้าวน้ำหอมผลสด ที่เตรียมส่งออกไปหลายประเทศ

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เดินทางไปที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก จ.ราชบุรี ได้พบกับคุณประยูร วิสุทธิไพศาล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2554 สาขาพืชสวน ผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกมะพร้าวน้ำหอม และไม้ผลหลายชนิด ในฐานะประธานกลุ่มได้ยืนยันว่า ตลาดมะพร้าวน้ำหอมของกลุ่มจากเดิมที่มุ่งเน้นในเอเซีย บัดนี้ได้ขยายตลาดไปยังยุโรปหลายประเทศ และเริ่มมีปัญหาผลผลิตขาดแคลน (รายละเอียดเกี่ยวกับการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของกลุ่มวิสาหกิจจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป) 

อีกข้อมูลหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามะพร้าวน้ำหอมคือทอง…เมื่อเร็วๆนี้  สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมมหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับวารสารเคหการเกษตร ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ธุรกิจมะพร้าวน้ำหอม..หนึ่งเดียวของไทยจากไร่นาสู่ตลาดโลก” โดยวิทยากรแต่ละท่านได้ตอกย้ำถึงอนาคตอันสดใสของมะพร้าวน้ำหอม

ผมค้นข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 1.5 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 8,000 ล้านบาท พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในโซนภาคกลาง โดยเฉพาะ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี

มะพร้าวน้ำหอมเกษตรแฟร์ 59
พันธ์ุมะพร้าวน้ำหอมที่ขายในงานเกษตรแฟร์ 59

และจากกระแสความนิยมของผลไม้เพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรงทั่วโลก เชื่อว่าพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทยจะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ เพราะ 3 จังหวัดดังกล่าวมีพื้นที่จำกัด ยากแก่การขยาย แต่จะกลายเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีชื่อเสียง สังเกตดูจากงานเกษตรแฟร์ครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 59  มีร้านจำหน่ายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมหลายร้านที่อยู่ใน 3 จังหวัดดังกล่าว แถมมีพันธุ์ใหม่ๆแนะนำ เช่น มะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย มะพร้าวกะทิน้ำหอม มะพร้าวพันธุ์พันธุ์พวงทอง ฯลฯ

เดิมนั้นราคาพันธุ์มะพร้าวลูกละไม่กี่บาท ก็ขยับเป็น 50-100 บาท…นั่นแสดงว่ามะพร้าวน้ำหอมกำลังได้รับความนิยม และแน่นอนว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังมีอนาคตไกล…ความฝันที่ว่าจะขายดีเหมือนโค้กก็เป็นไปได้…อยู่ที่ว่าคุณภาพของเราต้องสม่ำเสมอ และการเจาะตลาดหรือสร้างตลาดใหม่ๆมารองรับก็สำคัญไม่แพ้กัน

จุดประกายเล็กๆบนเวทีสัมมนาจะยิ่งใหญ่และเป็นจริงก็คราวนี้แหละครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated