เดินตามพ่อ ร.9...ในสวนยางมีมังคุด ขนุน ไก่ ฯลฯ ลุงวิเวก บุญช่วย ทำได้แล้ว
การทำสวนยางแบบผสมผสานของลุงวิเวก

ภาพ / เรื่อง : ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์

การทำอาชีพเกษตรกรรมแบบเชิงเดียวโดยเฉพาะการปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียวมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดทุนได้ง่ายในยุคนี้ แถมเจอภาวะเศรษฐกิจผันผวนไปทั่วโลกยิ่งทำให้ราคายางพาราอยู่ในภาวะขาลงได้บ่อยครั้ง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงประกาศนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนยางแบบผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าราคายางพาราจะเผชิญภาวะราคาตกต่ำแค่ไหนก็ตาม

ผลผลิตน้ำยางพารา
ผลผลิตน้ำยางพารา

การปรับวิถีชีวิตจากการปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวเข้าสู่ระบบสวนยางพาราผสมผสานไม่ใช่เรื่องยากมีเกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวนมากที่ยึดศาสตร์พระราชาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงภายใต้แนวคิดเกษตรผสมผสานแบบไร่นาสวนผสม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “วนเกษตรยางพารา” ที่ประสบความสำเร็จทางด้านผลผลิตและรายได้ ยกตัวอย่างเช่น “ลุงวิเวิก บุญช่วย” วัย 65 ปี ที่เน้นบริหารจัดการสวนยางร่วมกับการทำเกษตรทุกแขนงโดยปลูกพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจร่วมกับต้นยางปลูกพืชระยะสั้นในระหว่างแถวต้นยางเล็ก และเลี้ยงสัตว์ในสวนยางพารา เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ขุดบ่อเลี้ยงปลาและปลูกข้าว พื้นที่ลุ่มมีแหล่งน้ำจะใช้เลี้ยงปลา พื้นที่ลุ่มต่ำ ใช้ทำนาปลูกข้าวสภาพพื้นที่ดอนจะปลูกพืชสวนครัวสำหรับบริโภคในครัวเรือนก่อนที่เหลือจึงค่อยนำออกขาย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพของตัวเอง

สวนยางแบบผสมผสาน
สวนยางแบบผสมผสาน

รู้จักเกษตรกรคนเก่ง

ลุงวิเวก อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ 7 ต.เกาะขัน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โทร.099-6713204 (ลูกสาวลุงวิเวก) เดิมทีครอบครัวลุงวิเวกมีพื้นที่ทำเกษตรประมาณ 10 ไร่ ปลูกยางพารา ต่อมาลุงวิเวกได้ลงทุนซื้อพันธุ์มังคุดมาปลูกครั้งไม่กี่ต้นก่อนจะขยายพันธุ์มังคุดด้วยตัวเอง ปัจจุบันลุงวิเวกปลูกมังคุดแซมในสวนยางไปแล้ว ประมาณ 400 ต้น
ลุงวิเวิก เล่าว่าสมัยหนุ่มๆมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง และทำรับเหมาก่อสร้างควบคู่กันพอมีรายได้หมุนเวียนเลี้ยงดูครอบครัวบ้างแต่ไม่ค่อยมีรายได้เหลือเก็บ เมื่อต้นยางโต สามารถเปิดกรีดได้แล้ว ผลิตยางก้อนถ้วยและขี้ยางออกขาย ลุงวิเวกไม่คิดทำยางแผ่นดิบออกขาย เพราะต้องใช้เวลานานเมื่อเทียบกับการทำยางก้อนถ้วยที่ใช้เวลาทำน้อยกว่า และไม่ยุ่งยากลุงวิเวกมีรายได้จากการขายยางประมาณครั้งละ 4,000 บาท
ลุงวิเวก บอกว่าการตัดสินใจปลูกมังคุดแซมในสวนยางจำนวน 400 ต้น นับเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า เพราะต้นมังคุดจะให้ผลผลิตมากขึ้นตามอายุการปลูกเวลาเก็บผลผลิตออกขายจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำแต่ละครั้งจะมีรายได้เข้ากระเป๋ากว่า 150,000 บาท ปัจจุบันสามารถขายมังคุดในราคากิโลกรัมละ 70-100 บาทต้นมังคุดปลูกดูแลง่าย ใช้หลักการดูแลเช่นเดียวกับต้นยางพารา คือ ใส่ปุ๋ยใช้มูลวัว ขี้ไก่หมักผสมกับสารชีวภาพที่กรมพัฒนาที่ดิน นำมาแจกให้ใช้ฟรี ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยได้จำนวนมาก
นอกจากนี้ ลุงวิเวกยังเลี้ยงไก่เนื้อในสวนยางอีก 40 ตัว จำหน่ายไก่เนื้อ ในราคากิโลกรัมละ 70 บาท ขายได้ครั้งละ 3,000-4,000 บาท ส่วนแม่ไก่ไข่เลี้ยงเอาไว้ประมาณ 20 ตัวออกไข่ทุกวันๆละ 14-15 ฟอง สำหรับใช้บริโภคในครัวเรือน

เดินตามพ่อ ร.9...ในสวนยางมีมังคุด ขนุน ไก่ ฯลฯ ลุงวิเวก บุญช่วย ทำได้แล้ว
และลุงวิเวกได้ลงทุนทำบ่อเลี้ยงปลาดุก ปลาตะเพียน ปลายี่สก จับปลาออกขายในราคากิโลกรัมละ 80 บาท พ่อค้า แม่ค้าและเพื่อนบ้านเข้ามาซื้อปลาถึงสวนทุกสัปดาห์ คิดรายได้รวมๆ กันต่อเดือน ก็หลายหมื่นบาทเชียวนะจะบอกให้
ลุงวิเวิก บอกว่า ทุกวันนี้ผมไม่จำเป็นต้องออกไปรับจ้างกรีดยางพาราของคนอื่นแล้วไม่ต้องไปทำงานรับเหมาก่อสร้างบ้านที่ไหนอีกด้วยแค่ทำงานในสวนยางพาราผสมผสานของตนเองก็มีรายได้เข้ามาทุกวันเวลายางพารามีราคาแพง ก็ยิ้มรับทรัพย์ เวลาราคายางพาราตกต่ำก็ไม่ผลกระทบกับรายได้โดยรวมของครอบครัว เนื่องจากมีรายได้เข้ามาหลายทางช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี
ก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้จนเกษตรกรชาวสวนยางพาราส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนเพราะกรีดยางไม่ได้แถมสวนยางพาราหลายแห่งได้รับความเสียหาย สวนยางพาราของลุงวิเวกเสียหายจากภัยน้ำท่วมบ้างแต่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะครอบครัวลุงวิเวกมีผลไม้ไว้กินอย่างขนุนผลดิบ สามารถนำมาต้มกินได้ และลุงวิเวกยังเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ เพื่อเป็นแหล่งเสบียงยามยากได้ ส่วนปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อแม้จะไหลบ่าไปกับกระแสน้ำหลาก แต่ช่วงน้ำลด ยังเหลือบ่อเลี้ยงปลาอยู่ สามารถเลี้ยงปลารุ่นต่อไปได้อีกนี่คือความคุ้มค่าในการทำสวนยางแบบผสมผสานของลุงวิเวก

เดินตามพ่อ ร.9...ในสวนยางมีมังคุด ขนุน ไก่ ฯลฯ ลุงวิเวก บุญช่วย ทำได้แล้ว

ข้อคิดสำหรับชาวสวนยาง

ลุงวิเวก กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าหากใครสนใจอยากทำอาชีพเกษตรอย่างยั่งยืนแบบครอบครัวของลุงควรมีพื้นที่ในการปลูกยางพารา ประมาณ 10 ไร่ หากมีเนื้อที่น้อยกว่านี้จะมีรายรับไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัวการปลูกพืชแซมในสวนยาง ควรศึกษารายละเอียดเรื่องการปลูกและการตลาด

ก่อนการลงทุน

ประการต่อมา ตัวเกษตรกรเองต้องมีความขยันหมั่นเพียรเป็นพื้นฐานด้วยเพราะการทำเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัย ความขยัน อดทนไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี เพื่อรอให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้เพียงแค่นี้ เกษตรกรมือใหม่ไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานรับจ้างใครให้เหนื่อยยาก แค่ทำงานในสวนของตัวเองก็มีรายได้เพียงพอแล้ว ที่สำคัญไม่ต้องห่วงกังวลว่าราคายางพาราในช่วงนี้จะถูกหรือแพงเพราะการทำสวนยางแบบผสมผสมจะมีรายได้เข้ามาทุกวัน…อย่างมั่นคงและยั่งยืนทีเดียว ต้องย้อนกลับไปถามท่านผู้อ่านแล้วแหละว่า อยากรวยแบบลุงวิเวกบ้างไหม.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated