กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ค้นพบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ บนพื้นที่เกาะลันตา มากกว่า 16 แห่ง ปริมาณน้ำมากกว่า 25 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อบ่อ ที่สำคัญน้ำมีคุณภาพดี ไม่มีสารส้ม ไม่มีคลอรีน เตรียมสร้างระบบส่งน้ำให้ทั่วถึงทุกพื้นที่บนเกาะลันตา ที่สำคัญจะใช้เกาะลันตาเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่เกาะที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงพื้นที่โครงการศึกษาสำรวจเพื่อประเมินศักยภาพน้ำบาดาล บนพื้นที่เกาะในภาคใต้ของประเทศไทย กรณี พื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยนายศักดิ์ดา กล่าวระหว่างลงพื้นที่ว่า ขณะนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ค้นพบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ บนพื้นที่เกาะลันตา มากกว่า 16 แห่ง ปริมาณน้ำมากกว่า 25 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อบ่อและมีคุณภาพดี  ถ้ารวมกันจะมีปริมาณน้ำถึง 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เกาะลันตา สามารถนำศักยภาพของน้ำบาดาล ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานในภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ออกแบบระบบสูบน้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำ ส่งน้ำให้ทั่วถึงทุกพื้นที่บนเกาะลันตา

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า เกาะลันตา เป็นเกาะขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 190 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยเกาะลันตาน้อย และเกาะลันตาใหญ่ มีผู้คนอาศัยอยู่มายาวนานกว่าร้อยปี โดยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 18,400 คน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวปีละประมาณ  1 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากกว่า 600 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวการท่องเที่ยว บนเกาะมากขึ้น  ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวของเกาะลันตา ได้ส่งผลให้มีความต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จำเป็นเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงทรัพยากรน้ำ เกิดการแย่งน้ำในชุมชน ต้องมีการควบคุมการเปิดปิดน้ำเป็นเวลา โดยเกาะลันตาสามารถ ผลิตน้ำได้ 1,368 ลบ.ม./วัน แต่ความต้องการน้ำ 2,466  ลบ.ม./วัน

นายศักดิ์ดา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา พื้นที่เกาะลันตาใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน คลองธรรมชาติ และเจาะน้ำบาดาล มากกว่า 200 บ่อ ความลึกเฉลี่ย ไม่เกิน 100 เมตร ปริมาณน้ำ 2-5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งลักษณะทางอุทกธรณีวิทยา รองรับด้วยชั้นหินให้น้ำประเภทหินแข็ง ชนิดหินดินดานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชั้นหินที่หาน้ำบาดาลยาก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียด ถึงศักยภาพน้ำบาดาลว่ามีศักยภาพสูงสุดถึงเพียงใด และยังไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของการขุดเจาะและการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากจนระดับน้ำบาดาลลดต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้เกิดการแทรกดันของน้ำเค็มเข้ามาในชั้นน้ำบาดาลจืดจนเกิดการปนเปื้อน

“ด้วยเหตุนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักเพียงหน่วยงานเดียวที่มีภารกิจหลัก ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศ จึงได้จัดทำโครงการศึกษาสำรวจเพื่อประเมินศักยภาพน้ำบาดาลบนพื้นที่เกาะ ในภาคใต้ของประเทศไทย กรณี พื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และดำเนินโครงการมาด้วยเทคโนโลยีด้านการสำรวจและเจาะน้ำบาดาล จนค้นพบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ มากกว่า 10 แห่ง ปริมาณน้ำมากกว่า 25 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อบ่อและมีคุณภาพดี  ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่เกาะที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ใกล้เคียงกันต่อไป” นายศักดิ์ดา กล่าวและว่า เกาะลันตาเป็นเกาะที่ 4 ที่กรมฯ ดำเนินการต่อจากเกาะช้าง เกาะภูเก็ต เกาะสีชัง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่ทั้งช่วยประชาขนให้มีน้ำกินน้ำใช้ ด้านท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated