“กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับเกษตรกร โดยนำหลักเกษตรสมัยใหม่มาบริหารจัดการร่วมกับการเชื่อมโยงตลาดในยุคปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ตามโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ตามนโยบายสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดทำโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน โดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิตเพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม”

“โดยหนึ่งในแปลงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับการบริหารจัดการแปลง คือ แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 6 ตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ที่ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดกับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2563 จนสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ผลิตทุเรียนเกรด A และ B ได้ถึงร้อยละ 80 และปลอดทุเรียนอ่อนร้อยละ 100”

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด รวมถึงผลการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID – 19 ระดับสวนเกษตรกร  หรือ Zero Covid และปัญหาทุเรียนอ่อน ซึ่งมีผลการดำเนินการที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

แปลงใหญ่ทุเรียน  พื้นที่รวม 300 ไร่ สร้างเงินปีละ 35 ล้าน

ด้าน นายมณี ภาระเปลื้อง ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 6 ตำบลวังโตนด กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 35 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียนรวม 300 ไร่ ผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 500 ตันสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ปีละประมาณ 35 ล้านบาท การที่เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กับกรมส่งเสริมการเกษตร ถือว่า สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรสมาชิกเป็นอย่างมาก เพราะทำให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ เพื่อให้สามารถส่งผลผลิตเข้าสู่ล้งเพื่อการส่งออกได้อย่างยั่งยืน ด้วยนำเครื่องจักรมาช่วยในขั้นตอนการลดต้นทุนการผลิต และปัญหาแรงงานและการพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ

นายมณี ภาระเปลื้อง

“ภายใต้โครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ฯ ได้สนับสนุนวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จำนวน 2,786,611  บาท เพื่อจัดหา เครื่องตัดหญ้าแบบนั่งขับ, เครื่องตัดหญ้าแบบข้อแข็ง, เครื่องบดหั่นย่อยซากพืช, เครื่องตัดแต่งพุ่มไม้, เครื่องเป่าลมสะพายหลัง, เครื่องชั่งแบบดิจิตอล เป็นต้น ซึ่งเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหาด้านแรงงานและการห้ามใช้สารเคมียาฆ่ายาทำให้ประสบปัญหาแรงงานและมีต้นทุนในการผลิตมากขึ้น” นายมณี กล่าว

พร้อมกันนี้ ประธานแปลงใหญ่ ยังได้ให้มุมมองถึงแนวคิดในการประกอบอาชีพว่า  ในการทำสวนผลไม้หรือการเป็นเกษตรกร ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติสามารถเลี้ยงชีพได้ เราต้องมีใจรักในอาชีพทำสวน ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ร่วมกับการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัยตรงตามมาตรฐาน GAP ให้ผู้บริโภคได้รับประทานด้วยความเชื่อมั่น ก็จะทำให้เรามีกำลังใจ ในการรักษาคุณภาพและพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

“อีกทั้งต้องมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผนการผลิต การพัฒนา และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งค้นคว้านำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ควบคู่กับการทำการเกษตรให้มีความยั่งยืน พร้อมกับมีการปรับตัวแก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริหารการจัดงานสวนให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยมีเป้าหมายการทำสวนทุเรียนคุณภาพส่งออก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่งคงในอาชีพไปด้วยกัน และจากความร่วมมือที่เกิดขึ้น ได้ทำให้แปลงใหญ่ทุเรียนแห่งนี้สร้างผลผลิตทุเรียนเป็นเกรด A และ B ได้ถึงร้อยละ 80”ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนกล่าว

ป้ายบอกวันเริ่มติดดอก และจำนวนทุเรียนต่อต้น

ใช้เทคโนโลยี ร่วมกับวิธีการตัดแต่งผล

นายมณี อธิบายถึงหลักการสำคัญว่า ต้องมีการใช้เทคโนโลยี ร่วมกับวิธีการตัดแต่งผล และการไว้ผลใกล้ด้านบนของต้น/ปลายกิ่ง (โรงอาหาร) เพื่อเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งประสบผลสำเร็จ ทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และอัตราการลดผลผลิตที่เป็นตำหนิ ซึ่งจุดนี้จะต้องเชื่อมโยงกับการทำให้ทุเรียนติดผลดี ที่ประกอบด้วย 1. ควบคุมปริมาณและระยะเวลาการให้น้ำ เพื่อควบคุมเกสรตัวเมียให้มีความพร้อมต่อการผสม (ไม่ให้บานมากเกินไป) และเมื่อนำเกสรตัวผู้มาผสมจะได้ไม่ฟุ้งกระจาย 2. ก่อนดอกบาน 7 วัน ควรป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูพืช (เพลี้ยไฟ ไรแดง) ที่บริเวณดอกทุเรียน  3. เมื่อดอกบาน 80 % ของปริมาณทั้งต้น ควรลดปริมาณการให้น้ำ และขยายเวลาจากเดิม (ทุก 2 วัน/ครั้ง เป็น 3 วัน/ครั้ง)  4. เมื่อดอกทุเรียนเข้าสู่ระหางแย้ ลดปริมาณการให้น้ำเหลือ 30% และฉีดพ่นด้วยธาตุอาหารเสริมทุก 7 วัน และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามกลไกการออกฤทธิ์ โดยการสำรวจแปลงทุก 15 วัน    

ขณะเดียวกัน จากที่เน้นในเรื่องของคุณภาพผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดเป็นสำคัญ ทางประธานกลุ่ม และเกษตรกรสมาชิกจึงเลือกที่จะเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะผลทุเรียนที่แก่จัดเท่านั้น เพื่อให้ปลอดทุเรียนอ่อน 100% โดยนอกจากการสังเกตุลักษณะผล เช่น มีสีเปลือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นสีน้ำตาลหรือสีเขียวแกมเทา ก้านผลมีสีเข้มขึ้น เป็นสีน้ำตาลเข้ม สากตรงรอยต่อระหว่างก้านผลตอนบนกับก้านผลตอนล่าง (บริเวณปลิงทุเรียน) จะบวมใหญ่ เห็นรอยต่อชัดเจน เป็นต้น ยังจะใช้วิธีการนับอายุทุเรียน โดยนับจำนวนจากวันหลังดอกบานจนถึงวันที่ผลแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ คือ กระดุมใช้เวลา   90–100  วัน ชะนี ใช้เวลา 100–110 วัน ก้านยาว ใช้เวลา 120–130 วัน และหมอนทอง ใช้เวลา 120–130 วัน

Zero Covid เข้มข้น

“อีกสิ่งที่ทางแปลงใหญ่ของเราได้เน้นดำเนินการ คือ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID – 19 ระดับสวนเกษตรกร หรือ  Zero Covid ด้วยเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกทุกเรียนทุกคนต้องดำเนินการ เพราะในฤดูกาลผลไม้ปีนี้ จีนในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของผลไม้ของภาคตะวันออกได้กำหนดไว้ว่าต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID -19 ทั้งในคน ผลไม้ และองค์ประกอบอื่นในการขนส่ง ซึ่งจากการเข้ามาให้ความรู้และข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอนายายอาม จึงได้กำหนดให้ทุกสวนของสมาชิก ต้องปฏิบัติทั้ง 11 ข้อแนะนำ

ทั้งนี้ มาตรการระดับสวนเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำให้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อย่างน้อย 1 จุด 2. มีจุดล้างมือพร้อมน้ำยาล้างมือหรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1 จุด 3. มีแนวกั้นบริเวณอาณาเขตของสวน และมีจุดเข้าออกทางเดียว  4. การเข้าออกของแรงงานและคนในสวน ห้ามไม่ให้แรงงานของสวนออกจากสวน หรือถ้ามีการออกจากสวนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิหรือมีมาตรการดำเนินการอื่นๆ 5. การเข้าออกของบุคคลภายนอก ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกสวนโดยไม่มีความจำเป็น และถ้ามีการเข้าออกต้องผ่านการคัดกรอง และมีการจดบันทึกทั้งคนและรถที่ผ่านเข้าออก 6. ให้แรงงานและผู้เกี่ยวข้องในสวนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม 7. มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและทุกคน 8. มีการตรวจ ATK ทุก 7 วัน ทั้งเจ้าของสวนและแรงงาน และคนเข้าออกสวนต้องมีใบรับรองผลตรวจ ATK 9. สวมถุงมือที่สะอาดในขณะที่มีการปฏิบัติงานในสวน 10. ต้องมีการเว้นระยะห่างของบุคคล อย่างน้อย 1 เมตร และ และ 11. มีการจดบันทึกทุกขั้นตอนในแต่ละวัน ได้แก่ การเข้าออกสวน ผลตรวจ ATK  การวัดอุณหภูมิ การฉีดวัคซีน เป็นต้น    

“ในปัจจุบันนี้ สิ่งสำคัญที่จะให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและผลไม้อื่น ๆอยู่รอดได้ คือ ต้องเน้นผลผลิตคุณภาพออกสู่ตลาด และต้องมีการทำตลาดออนไลน์ควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวัง Covid-19 พร้อมทั้งจำหน่ายสินค้าควบคู่กันหลาย ๆ ช่องทาง ทั้ง ล้ง พ่อค้าคนกลาง นักท่องเที่ยว และออนไลน์ และสุดท้าย คือ พัฒนาคุณภาพและรวมกลุ่มกันจัดการผลผลิตและการตลาดร่วมกับกลุ่มแปลงใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ ทางเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่อยู่ใกล้บ้านสามารถช่วยให้คำปรึกษาได้อย่างดี” นายมณี กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated