เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามเร่งรัดงานจัดทำผังน้ำ SEA และงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สทนช. โดยมี นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ผู้บริหารจากสำนักงาน กอง ศูนย์ สทนช.ภาค 1-4 และบริษัทที่ปรึกษา เข้าร่วมประชุม ณ สทนช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า การประชุมในวันนี้เพื่อรับทราบและติดตามเร่งรัดโครงการศึกษาฯ ที่มีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนพร้อมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้การดำเนินงานและผลการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล และเมื่อโครงการศึกษาเสร็จสมบูรณ์แล้ว สทนช. จะส่งต่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อไป

ทั้งนี้ สทนช. ได้แบ่งกลุ่มโครงการศึกษาฯ ออกเป็น 3 กลุ่มโครงการ ประกอบด้วย กลุ่มโครงการจัดทำผังน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันแก้ไขภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม บ่งชี้พื้นที่เก็บน้ำเมื่อคราวน้ำน้อยได้อย่างชัดเจน หรือเมื่อยามน้ำหลากสามารถชี้เส้นทางได้ว่าควรจะระบายน้ำออกในทิศทางใด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ รักษาคุณภาพน้ำ และไม่ทำให้เกิดการรุกล้ำทางน้ำ นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ว่าจะอยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ หรืออยู่ในพื้นที่กีดขวางทางระบายหรือไม่ รวมถึงควบคุม การใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ โดยไม่มีสิ่งกีดขวางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กลุ่มโครงการพื้นที่เฉพาะ หรือ Area Based  เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำแบบบูรณาการของประเทศตามนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล สทนช. จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based)


โดยวางแผนการดำเนินการที่ใช้ทั้งมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้างร่วมกัน รวม 66 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำซ้ำซาก ทั้งท่วม แล้ง และคุณภาพน้ำ ตลอดจนจัดหาน้ำเพื่อส่งเสริมพื้นที่พิเศษ เช่น การท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ กลุ่มโครงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้จัดทำแผนหลักด้านน้ำที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เริ่มจัดทำเป็นมาตรฐานให้กับการพัฒนาด้านอื่นๆ โดย สทนช. ได้ศึกษาวิเคราะห์ความต้องการของพื้นที่ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ ข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมและแนวโน้มความคุ้มค่าเพื่อกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และลำดับความสำคัญผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อให้สาธารณชน มีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated