สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA โดยดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เป็นประธานจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “Smart Sea – Smart Farm : นวัตกรรมเกษตรจาก ARDA” ระหว่างวันที่ 21–22 กรกฎาคม 2568

โดยนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี เยี่ยมชมนวัตกรรมการขยายพันธุ์ปะการังอ่อน สำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมปล่อยสัตว์ทะเล จำนวน 5,002,552 ตัว ได้แก่ แม่ – ลูกปูม้า หอยหวาน ฉลามกบ หมึกกระดอง ฟื้นความสมบูณ์ท้องทะเลไทย เทคโนโลยีตรวจพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมเจาะลึกระดับ DNA เฟ้นหามะพร้าวน้ำหอมหวานพิเศษ และเทคโนโลยีโดรนพ่นใต้ใบ แม่นยำทุกใบครอบคลุมทุกต้น

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ARDA ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนวัตกรรมงานวิจัยให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และนโยบายกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ที่ขับเคลื่อนโดยสกสว. ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ สำหรับกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจนในครั้งนี้ทาง ARDA ได้นำเสนอผลงานวิจัย จำนวน 3 โครงการวิจัย ดังนี


- ครั้งแรกของไทย กับนวัตกรรม ARDA ขยายพันธุ์ “ปะการังอ่อน” ฟื้นระบบนิเวศโลกใต้ทะเล–ปั้นรายได้สู่ชุมชน
ARDA ผนึกกำลังศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชังโดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เพาะขยายพันธุ์ “ปะการังอ่อน” 6 ชนิด สำเร็จครั้งแรกของประเทศ ภายใต้โครงการขยายพันธุ์ปะการังอ่อนสู่การใช้ประโยชน์จริงเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศชายฝั่งที่เสื่อมโทรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของกลุ่มเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมี ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อขยายพันธุ์ปะการังอ่อนด้วยระบบการทำฟาร์มบนบก ผ่านธนาคารกล้าปะการังอ่อนแบบมีส่วนร่วม CU–ARDA ซึ่งเป็นการสนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ถือเป็นต้นแบบการฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศชายฝั่งที่เสื่อมโทรม โดยนำร่องในพื้นที่ 5 เกาะ ได้แก่ เกาะสีชัง เกาะร้านดอกไม้ เกาะขามใหญ่เกาะขามน้อย และเกาะโปรง


ปัจจุบันโครงการฯ ผลิตกล้าปะการังอ่อนได้มากกว่า 3,400 ต้น และจากการประเมินอัตราการรอดโดยเฉพาะปะการังอ่อนหนังดอกเห็ดมีอัตราการรอดสูงถึง 100% ระบบนิเวศทางทะเลเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด สัตว์น้ำที่ไม่ค่อยได้พบเห็นเริ่มกลับมาให้เห็นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่าสัตว์น้ำในพื้นที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กิจกรรมของประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งในช่วงที่ดำเนินโครงการสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 3 ล้านบาท จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 7,200 คน


โดยในอนาคตเตรียมเสนอกรมประมงปลดล็อกปะการังอ่อนจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อเปิดทางสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมาย เสริมรายได้ชุมชนชายฝั่ง ผลักดันไทยสู่การเป็นผู้นำตลาดสัตว์ทะเลสวยงามของโลกภายใต้แนวคิด BCG และ Blue Economy เพื่ออนาคตทะเลไทยที่ยั่งยืน
เกษตรก้าวไกลLIVE-ARDAหนุนใช้งานวิจัยยกระดับสวนมะพร้าวน้ำหอมโคโค่คาวบอยให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/749037320828564

- 9 องศาบริกซ์! มะพร้าวน้ำหอมแปดริ้ว ที่สุดของความหวาน ARDA อนุรักษ์พันธุ์พื้นถิ่น หนุนทุนวิจัย
ตรวจ DNA คัดมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ของพื้นที่ สร้างเกษตรมูลสูงด้วยอัตลักษณ์ประจำถิ่น
ในยุคที่มะพร้าวน้ำหอมกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และต้นทุน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศไทย ในขณะที่ไทยถึงแม้ยังคงมีชื่อเสียงด้านรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัว แต่ปัญหาสำคัญที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก คือ “ความไม่สม่ำเสมอของคุณภาพ” โดยเฉพาะในเรื่องรสชาติและระดับความหวานของมะพร้าว ซึ่งควบคุมได้ยากในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ผลผลิตจำนวนไม่น้อยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการส่งออก ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ ARDA จึงได้สนับสนุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ เป็นหัวหน้าโครงการฯ พัฒนาเทคโนโลยีจีโนมิกส์และเครื่องหมาย DNA (SNP) วิเคราะห์พันธุกรรมของมะพร้าว 129 สายพันธุ์จากทั่วประเทศ


โดยผลวิจัยชี้ชัดว่า “มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แปดริ้ว” ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของ จ.ฉะเชิงเทรามีระดับความหวานถึง 9 องศาบริกซ์ สูงกว่ามาตรฐานส่งออกทั่วไป ซึ่งกำหนดระดับความหวานไว้ที่ 5.5 – 8.0 องศาบริกซ์ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมที่โดดเด่น โดยจากการทดสอบผู้บริโภคทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวต่างชาติ “มะพร้าวแปดริ้ว” ได้รับความพึงพอใจสูงสุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ ส่งผลให้มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แปดริ้วกลายเป็น “มะพร้าวน้ำหอมหวานพิเศษ” (Super-sweet) และนอกจากความหอมและหวานที่เหนือกว่า จุดแข็งคือ การันตี DNA แท้ 100% ด้วยเทคโนโลยี SNP Marker ทำให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่มี ยีนหอมและยีนหวานอยู่ในต้นเดียวกัน ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ได้พัฒนาสูตรปุ๋ยเฉพาะสำหรับมะพร้าวน้ำหอม เพื่อยกระดับคุณภาพให้สม่ำเสมอ พร้อมจัดตั้งแปลงต้นแบบ และเตรียมขึ้นทะเบียนพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ ราคาดี มีตลาดรองรับ ต่อยอดคุณค่าด้วยสายพันธุ์พื้นถิ่นแท้ ซึ่งเป็นการผลักดันให้เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่พร้อมแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน



- ARDA เปิดตัวโดรนน้องใหม่ เทคโนโลยีฉีดพ่นสุดล้ำ พ่นใต้ใบได้ทุกจุด ลดความเสียหายผลผลิต–เพิ่มกำไร 20%
ARDA สนับสนุน “โดรนฉีดพ่นใต้ใบ” เทคโนโลยีชั้นนำจากบริษัท อีเอวิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมอารักขาพืชไทย ขยายผลการฉีดพ่นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชในสวนมะพร้าว ภายหลังการลงนามความร่วมมือ LOI ร่วมทำงานวิจัยสวนมะพร้าว ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้ให้บริการโดรนกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว (Service Provider) ในจังหวัดฉะเชิงเทราและนครศรีธรรมราช โดยมีนายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย เป็นหัวหน้าโครงการฯ



โดยจุดเด่นอยู่ที่สามารถฉีดพ่นระหว่างพุ่มใบของมะพร้าวเพื่อกำจัดศัตรูพืชได้อย่างตรงจุดด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ แม่นยำ ลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการที่ยกระดับการกำจัดศัตรูมะพร้าวได้มากถึง 7 ชนิด โดยเฉพาะหนอนหัวดำ ศัตรูร้ายที่สร้างความเสียหายสะสมต่อเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการวิจัยฯ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช รวมพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมกว่า 300 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มปลูกมะพร้าวน้ำหอมในฉะเชิงเทรา 600 ไร่ และกลุ่มมะพร้าวแกงในพื้นที่ภาคใต้ 2,400 ไร่ นอกจากนี้โครงการยังมุ่งส่งเสริม ผู้ให้บริการโดรนเกษตร (Service Provider) ในระดับชุมชน โดยอบรมนักบินโดรนเกษตรรุ่นใหม่และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ใช้งานได้จริง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำไรสุทธิให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ไม่น้อยกว่า 20% นวัตกรรมโดรนใต้ใบจึงไม่เพียงเป็นเครื่องมือป้องกันศัตรูพืช แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับเกษตรกรรมไทยสู่ระบบแม่นยำ (Precision Agriculture) ที่สร้างได้ทั้ง “รายได้” และ “ความยั่งยืน”


“งานวิจัยจะไม่มีค่า ถ้าไม่ถูกนำไปใช้จริง… นั่นคือหลักคิดที่ ARDA ยึดมั่นเสมอ และกิจกรรมครั้งนี้ คือบทพิสูจน์ว่า เมื่อวิทยาศาสตร์จับมือชุมชน อนาคตก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอ แต่คือสิ่งที่เราสร้างได้ จากปะการังอ่อนที่เสี่ยงสูญพันธุ์ สู่การฟื้นฟูทรัพยากรทะเล..จากมะพร้าวน้ำหอม ที่เคยราคาตก สู่ผลผลิตที่มีคุณภาพระดับส่งออก ทุกโจทย์ใหญ่ของประเทศ แก้ได้ด้วยนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงในพื้นที่ นี่ไม่ใช่แค่งานวิจัยแต่คือ พิมพ์เขียวของอนาคตที่สร้างได้ด้วย “ความรู้” และ “การลงมือทำ” “เพราะอนาคต ไม่ได้มาด้วยการคาดเดา แต่มาจากการลงมือถึงเกิดเปลี่ยนแปลง” ดร.วิชาญ ฯ กล่าวปิดท้าย
