ดีป้าจับมือพันธมิตร! ลุยส่งเสริม 10,000 เกษตรกรใช้แพลตฟอร์ม

วันที่ 15 กรกฎาคม 2568, กรุงเทพมหานคร – ดีป้า ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรขยายผลการส่งเสริมเกษตรกร ชาวสวนทุเรียน ภายใต้โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล รุกส่งเสริมการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันจดบันทึกข้อมูลและติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก พร้อมเพิ่มคุณสมบัติข้อมูลการลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกโดยใช้บริการดิจิทัล เพื่อการจัดเก็บคาร์บอนฟุตพรินต์ ต่อยอดแพลตฟอร์มกลางเก็บข้อมูลเพาะปลูก ตั้งเป้ายกระดับชาวสวนทุเรียน ทั่วประเทศ 10,000 ราย ขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ และพลิกทุเรียนไทยกลับมายืนหัวแถวอาเซียน

ดีป้าจับมือพันธมิตร! ลุยส่งเสริม 10,000 เกษตรกรใช้แพลตฟอร์ม "OTOD ทุเรียนดิจิทัล"

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย นายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผศ.พวงเพ็ชร์ นิธยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และ นางสาวณิชนันทน์ บุญเพิ่มพูล Manager of Seasonal Fruit – CP Fresh บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงแนวทางการขยายผลโครงการ One Tambon One Digital: OTOD ทุเรียนดิจิทัล พร้อมประกาศความร่วมมือการดำเนินโครงการดังกล่าว ณ อาคาร ดีป้า (สำนักงานใหญ่) ซอยลาดพร้าว 10 เขตจตุจักร

ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ดีป้า เริ่มดำเนินโครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล ในปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยนำแพลตฟอร์มดิจิทัล (แอปพลิเคชัน) มาประยุกต์ใช้จดบันทึกข้อมูลและติดตามย้อนกลับการเพาะปลูกทุเรียน ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับมาตรฐาน dSURE และผ่านการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล มาพร้อมกับคุณสมบัติที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจดบันทึกข้อมูลและติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็น การเก็บข้อมูลเกษตรกรเพื่อรวบรวมเป็น Big Data การจัดการข้อมูลเพื่อยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) การจัดการคุณภาพผลผลิต การจัดการการตลาด ฯลฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวสวนทุเรียน โดยช่วงที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวช่วยลดต้นทุนการผลิตให้พี่น้องเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 180 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทุเรียนมากกว่า 1,280 ล้านบาท

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า มุ่งหวังให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการการเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้ ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรจึงมุ่งขยายผลโครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรเลือกใช้แอปพลิเคชันที่หลากหลายยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการเพิ่มคุณสมบัติ Greenhouse Gas Information หรือข้อมูลการลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกโดยใช้บริการดิจิทัลเพื่อการจัดเก็บคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยต่อยอดแพลตฟอร์มกลางเก็บข้อมูลเพาะปลูกเพื่อเป็น Big Data ด้านการเพาะปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร ในการร่วมคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ร่วมยกระดับบริการดิจิทัลด้านการเกษตรสัญชาติไทยให้ได้มาตรฐาน dSURE พร้อมผลักดันเข้าสู่บัญชีบริการดิจิทัล และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้าในการขยายช่องทางตลาดเพื่อกระจายผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดีป้าจับมือพันธมิตร! ลุยส่งเสริม 10,000 เกษตรกรใช้แพลตฟอร์ม "OTOD ทุเรียนดิจิทัล"

“ดีป้า ตั้งเป้ายกระดับศักยภาพเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยทั่วประเทศรวม 10,000 ราย พร้อมต่อยอดสู่การนำเทคโนโลยี IoT บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะมาช่วยควบคุมการเปิด – ปิด การรดน้ำ ในสวนทุเรียน ผ่านแอป พลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่สามารถควบคุมการทำงานทั้งแบบการตั้งค่าเวลาและแบบอัตโนมัติผ่านชุดเซนเซอร์ วัดความชื้นและวัดอุณหภูมิในพื้นที่สวนทุเรียน นอกจากนี้ ดีป้า ยังมีการมอบคูปองดิจิทัลให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีการบันทึกข้อมูลสม่ำเสมอ 500 รางวัล เพื่อให้เกษตรกรได้เลือกซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลด้านการเกษตรบนบัญชีบริการดิจิทัล มูลค่า 10,000 บาท โดย ดีป้า ประเมินว่า โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนราว 1,700 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทุเรียน 11,700 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดถือเป็นหนึ่งก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยให้ก้าวไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) รองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ในตลาดสากล และพลิกฟื้นทุเรียนไทยให้กลับมายืนหัวแถวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคมนี้ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า ‘ทุเรียน ดิจิทัล’ และกดสมัครได้เลย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ดีป้า โทร 06 1423 9055 และ 09 2955 9478 หรือ Line OA: @durian_digital

ดีป้าจับมือพันธมิตร! ลุยส่งเสริม 10,000 เกษตรกรใช้แพลตฟอร์ม "OTOD ทุเรียนดิจิทัล"
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated