กรุงเทพฯ 2 พฤษภาคม 2568 – บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เดินหน้าส่งเสริมโครงการพัฒนาการปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ครบวงจร นำโซลูชันและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ยกระดับศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองคุณภาพสูง สร้างรายได้ให้เกษตรกร พร้อมโชว์ผลสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยท่าเดื่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์สู่ 300 กก./ไร่ พร้อมตั้งเป้าพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองอินทรีย์ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงโครงกล่าวนี้ว่า ปัจจุบันจำนวนการนำเข้าพืชถั่วเหลืองอยู่ที่ 3 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท/ปี สยามคูโบต้าเล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองไทยสู่ความยั่งยืน หากสามารถทดแทนการนำเข้าในส่วนของการใช้บริโภคจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยทั้งในฤดูกาลเพาะปลูกและหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาการประสิทธิภาพปลูกถั่วเหลือง โดยสนับสนุนองค์ความรู้และโซลูชันในการปลูกถั่วเหลืองแบบครบวงจรด้วยวิธีการแบบ KAS หรือ KUBOTA (Agri) Solutions ตั้งแต่กระบวนการเตรียมแปลง เริ่มตั้งแต่การจัดการฟางข้าวในแปลงหลังเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องอัดฟาง การไถกลบตอซังในแปลงเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด และการเตรียมดินที่มีความละเอียดที่เหมาะสม การลงปลูกเมล็ดถั่วเหลือง ปรับจากการหว่านเมล็ดสู่วิธีการหยอดด้วยเครื่องหยอดเมล็ด ทำให้ลดต้นทุนจากเดิมที่ประมาณ 25-30 กิโลกรัม/ไร่ เหลือเพียง 15 กิโลกรัม/ไร่ การดูแลรักษา ใช้โดรนการเกษตรบินพ่นปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ต่างๆ และขั้นตอนการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง ด้วยการประยุกต์ใช้รถเกี่ยวนวดข้าวติดตั้งชุดอุปกรณ์หัวเก็บเกี่ยวถั่ว ทั้งหมดนี้เป้าหมายเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดเวลา พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

โดยได้ลงพื้นที่ทำแปลงต้นแบบ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยท่าเดื่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรในโครงการคูโบต้าร่วมมือเกษตรร่วมใจที่ทางสยามคูโบต้าได้ส่งเสริมเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้การทำการเกษตรตั้งแต่ปี 2566 ปัจจุบันปริมาณและคุณภาพผลผลิตถั่วเหลืองจากกลุ่มนี้สูงถึง 300 กิโลกรัม/ไร่ และขยายพื้นที่การใช้เครื่องจักรครบวงจรในการปลูกถั่วเหลืองจาก 5 ไร่ เป็น 102 ไร่ ในปี 2567 โดยมุ่งหวังให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ท่าเดื่อ เป็น “ศูนย์เรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองอินทรีย์ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจร” ของจังหวัดชัยภูมิ


นายธงชัย โอฬารพัฒนะชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิ มีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ภายใต้การขับเคลื่อนงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ ในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการพื้นที่นาอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหลังนา การเลือกปลูก “ถั่วเหลือง” จึงกลายเป็นพืชทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรชัยภูมิ เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย และยังมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางการเกษตร เช่น ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มความสมดุลของธาตุอาหารในดิน ซึ่งส่งผลดีต่อการเพาะปลูกในรอบถัดไป นอกจากนี้จังหวัดยังส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้การจัดการการผลิตอย่างครบวงจร ทั้งด้านการเพาะปลูก การควบคุมคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการตลาดและการแปรรูป เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว

นางบัวโฮม สาริพันธ์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยท่าเดื่อ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มหันมาปลูกถั่วเหลืองในฤดูหลังนา เนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ด้านการบำรุงดินควบคู่กับการอัดฟางแทนการเผา และไถกลบตอซังเพื่อคืนธาตุอาหารกลับสู่ผืนดินอย่างเป็นระบบ จากแนวทางที่ยั่งยืนนี้ ประกอบกับการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสยามคูโบต้าที่ได้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้การประยุกต์ใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิตถั่วเหลืองแบบครบวงจรเข้ามาเสริม ทำให้กลุ่มสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลงไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งเกษตรกรสามารถลดระยะเวลาและเพิ่มความแม่นยำยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับแรงงานคน ผสมผสานกับการทำเกษตรแบบอินทรีย์ของกลุ่มแล้วนั้น ส่งผลให้ผลผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์ของกลุ่มเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 300 กิโลกรัม/ไร่

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างพื้นที่นำร่องและเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงการเพิ่มวัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมจะช่วยยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศให้สูงขึ้น เป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรในอนาคต