พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลสำเร็จของศูนย์เรียนรู้และศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรต้นแบบ ที่มีการต่อยอด ขยายผล การทำเกษตรตามแนวพระราชดำริแห่งความพอเพียง ชูอัตลักษณ์การทำเกษตรแบบผสมผสาน การทำวนเกษตร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม-เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้ สู่ครอบครัวและชุมชน และมีการขยายผลการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับชุมชนใกล้เคียงระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ฯ ในจังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี
เกษตรก้าวไกลLIVE-พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เปิดบ้านท่องเที่ยวเส้นทางตามรอยพ่อ ปีที่ 2 นำทัพสื่อเยี่ยมชมความสำเร็จศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคตะวันออก https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1026952249411180

พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการเปิดบ้านท่องเที่ยวเส้นทางตามรอยพ่อ ประจำปี 2568 ว่า “สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ตลอดจนขยายผลแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่และชุมชนทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตร ฯ 95 แห่งจากทั่วประเทศ และมีเป้าหมายขยายศูนย์เรียนรู้เครือข่ายฯ ทั่วทุกจังหวัดภายในปี 2569
โดยในปีนี้ได้นำคณะสื่อมวลชนพาไปเยี่ยมชมพื้นที่การทำเกษตรต้นแบบ “วนเกษตร” ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “สวนดินดุสิตาเครือข่ายเกษตรตำบลพวา” จังหวัดจันทบุรี ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “บ้านสวนกันและกัน” จังหวัดจันทบุรี และศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ บ้านสองสลึง” จังหวัดระยอง ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นเฉพาะตัวในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาอนาคตของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเชื่อมโยง ขยายผลในระดับชุมชนอย่างเข้มแข็ง”
“ศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 3 แห่งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งรูปธรรมความสำเร็จของการน้อมนำแนวพระราชดำริ หลักคิด หลักปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับภูมิสังคม ถ่ายทอดแนวคิดเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าสะท้อนการเดินทางของคนรุ่นใหม่ที่เลือกกลับบ้านเพื่อชีวิตที่มั่นคงจากเกษตรเพื่อชีพ สู่วิถีเกษตรเพื่อแบ่งปันความรู้สู่ชุมชน ทั้งยังสร้างโอกาสให้คนไทยเรียนรู้และลงมือทำเพื่อชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” พันจ่าเอก ประเสริฐ กล่าวย้ำ

ด้านนางสาววรรณิภา เครือวัลย์ ผู้นำเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิม
พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจังหวัดระยอง บ้านสองสลึง ตำบลสองสลึง อำเภอแกลง จังหวัดระยองกล่าวว่า “ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2558 ผู้เป็นพ่อได้ก่อตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาโดยเปลี่ยนชีวิตจากการทำเกษตรเคมี สู่วิถีเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์แห่งนี้เริ่มต้นจากการเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ต่อมาได้พัฒนาเป็นศูนย์เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 50 ไร่ เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามแนวทฤษฎีใหม่ อาทิ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และการสร้างคลังอาหารในครัวเรือน เพื่อพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง โดยผู้เป็นพ่อเคยเป็นเกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและพึ่งพาสารเคมี ก่อนจะหันมาใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถฟื้นฟูชีวิตและที่ดินของตนเองได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันตน ได้สานต่อภารกิจของพ่ออย่างเต็มตัว เพื่อให้ที่นี่เป็นพื้นที่สร้างอาชีพ ให้พึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน สำหรับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง ให้บริการความรู้กับประชาชน เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สอนการปรับปรุงบำรุงดิน สร้างอาชีพ สร้างผู้นำต้นแบบของการพึ่งตนเอง การผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก ปลูกพืชสมุนไพร”

ด้านนางสาวกัญญา ดุชิตา ผู้นำศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “สวนดินดุสิตาเครือข่ายเกษตรตำบลพวา” ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี อดีตพนักงานธนาคารได้กล่าวถึงแรงผลักดันในการตัดสินใจกลับคืนสู่บ้านเกิดว่า เพื่อกลับมาสานต่อภารกิจการเป็นเกษตรกรจากนายบุญเลิศ ดุชิตา เกษตรกรต้นแบบผู้เป็นพ่อ โดยศึกษาเรียนรู้เกษตรกรรมจากครอบครัวอย่างจริงจัง และพยายามพึ่งพาตนเองโดยใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลักคิดเหล่านี้ได้ถูกฝังอยู่ในวิถีชีวิตและถูกถ่ายทอดอย่างเป็นธรรมชาติจากการเรียนรู้และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการต่อยอดสู่แนวทาง “วนเกษตร” และนำมาปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง โดยเน้นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างเครือข่าย “วนเกษตรตำบลพวา” ที่รวมกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่น ทำกิจกรรมพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน พร้อมฟื้นฟูประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มในชุมชนในการแปรรูปผลผลิตสมุนไพรจากจากป่าวนเกษตรจำหน่าย อาทิ การทำน้ำมันพุทธมนต์จากว่าน 108 การทำน้ำมันชันตะเคียน และการทำแยมมะแปม การกลั่นน้ำมันจากสมุนไพรท้องถิ่น การทำยาหม่องสมุนไพร ยาดมสมุนไพรและครีมมะกรูดสระผม เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีในตลาดเป็นรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืนให้คนในชุมชน”ส่วนทางด้านนางสาวกมลภทร กสิกรรม เจ้าของเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯและเจ้าของ “บ้านสวนกันและกัน” จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า “เริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ในการติดตามแม่ไปประชุมเครือข่ายวนเกษตร ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการจริง ฝึกฝน คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติ โดยยึดแนวคิด “เกษตรเพื่อพึ่งตนเอง” นอกจากนี้ยังได้ร่วมโครงการ MASA ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเกษตรยั่งยืน และนำประสบการณ์กลับมาพัฒนาสวนในพื้นที่ของตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในชื่อ “บ้านสวนกันและกัน” ผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ การสร้างสวนวนเกษตร การแปรรูปสมุนไพร เช่น น้ำแก้ไอฝาง น้ำมันพุทธมนต์ ยาหม่อง น้ำมันมะพร้าว และผลิตภัณฑ์พื้นบ้านหลากหลาย รวมถึงการแปรรูปอาหารในสวน เช่น ไอศกรีม ข้าวหมาก แช่อิ่ม ซึ่งสะท้อนความคิดสร้างสรรค์และการจัดการที่ยึดโยงกับทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวอย่างเต็มศักยภาพ
