โฉนดต้นยางพาราเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ หลัง “รมว.นฤมล” กดปุ่ม Kick Off โครงการมอบโฉนดฯ “ชาวสวนยางชุดแรก 11,100 ราย ได้รับมอบโฉนด เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ด้าน กยท. ลุยต่อ เตรียมคุย ธกส. ขอลดดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้คนมีโฉนด

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทรจ.พระนครศรีอยุธยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(ส.ป.ก.) และ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงาน Kick Off การมอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหาร กยท. นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน ตัวแทนเกษตรกร และสื่อมวลชนเข้าร่วมกว่า 2,900 คน พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดเชื่อมโยงไปยัง 144 จุดทั่วประเทศ รวมผู้เข้าร่วมกว่า 12,000 คน พร้อมกันนี้ ยังได้มีพิธีลงนามแสดงเจตจำนงระหว่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส.ป.ก. และ กยท. ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นแหล่งทุนใหม่สำหรับเกษตรกร ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 

ทั้งนี้ โครงการโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา ถือเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันขึ้น เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพของต้นไม้และต้นยางพาราให้สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันทางสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ เช่น ธ.ก.ส. และสถาบันการเงินอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ลดข้อจำกัดและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสินเชื่อ ส่งเสริมการสร้างรายได้จากเนื้อไม้และกิจกรรมคาร์บอนเครดิต อันเป็นการยกระดับเศรษฐกิจของเกษตรกรและระบบการเกษตรอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ได้กล่าวในพิธีเปิดว่า ต้นไม้เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ไม่เพียงแต่ในเชิงเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่ารวมกว่า 350,000 ล้านบาทต่อปี แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไปสู่ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ได้ให้คำมั่นกับประชาคมโลก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคส่วน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมทั้งต่อยอดพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรอื่นในระบบการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

“โครงการโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารานี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นไม้และต้นยางพาราในระบบการเกษตรมากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบเกษตรเชิงเศรษฐกิจและวนเกษตร ช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ” ดร.นฤมล กล่าว

ด้าน ดร.เพิก กล่าวเพิ่มเติมว่า  โฉนดต้นยางพารา เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกร ถือเป็นการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยวันนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับโฉนดต้นยางพาราเป็นชุดนำร่องจากทั่วประเทศ รวม 11,100  ราย ซึ่งสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการใช้เป็นหลักประกันในระบบสินเชื่อ เชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน แทนการใช้โฉนดที่ดินเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ด้วยต้นยางพารามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 บาท และยังได้ประโยชน์จากเรื่องของคาร์บอนเครดิต และมาตรฐาน EUDR หรือ EU Deforestation-free Products Regulation รวมถึงเรื่องของการตรวจสอบย้อนกลับ

“กยท. ได้มุ่งดำเนินการให้โฉนดต้นยางพาราให้เกิดกับเกษตรกรทุกคน ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเริ่มจากพื้นที่ปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ก่อน จากนั้นจะดำเนินการในพื้นที่ทับซ้อน เช่น ในเขตป่าสงวน เขตป่าอนุรักษ์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ กยท. กำลังหารือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส. แต่มีโฉนดต้นยางพารา หรือร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับการลดโลกร้อน และกิจกรรมคาร์บอนเครดิต ให้ได้รับการช่วยเหลือ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษ” ดร.เพิก กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated