เดินหน้าจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดร ดีเดย์ เปิดตามกำหนด 1 พ.ย.69 ยืนยันปรับผังแม่บทจำนวนอาคาร และพื้นที่จัดงาน 1,030 ไร่เท่าเดิม
เดินหน้าจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดร ดีเดย์ เปิดตามกำหนด 1 พ.ย.69 ยืนยันปรับผังแม่บทจำนวนอาคาร และพื้นที่จัดงาน 1,030 ไร่เท่าเดิม

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ลงสำรวจพื้นที่เชิงลึกสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี ในโอกาสที่ Ms. Hongmin Peng รองประธานสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ Mr. Tim Briercliffe เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ และคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ลงสำรวจพื้นที่เชิงลึก ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และจังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 23-28 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดนครราชสีมา โดยตนได้เน้นย้ำหลักการปรับผังแม่บทตามคำแนะนำของคณะกรรมการ AIPH นั้นยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม และพื้นที่ในการจัดงานยังมีพื้นที่เท่าเดิม 1,030 ไร่ จำนวนอาคารไม่มีการตัดทอนออกแต่อย่างใด รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ยังคงเดิม แต่การปรับผังเป็นการกระชับพื้นที่การใช้ประโยชน์ ทำให้การก่อสร้างทำได้เร็วขึ้น และผู้เข้าชมงานสามารถเข้าถึงจุดที่เป็นจุดดึงดูดสำคัญของโครงการได้ในเวลาที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเตรียมรับมอบพื้นที่จากจังหวัดอุดรธานีเพื่อดำเนินการในขั้นตอนการก่อสร้าง และภูมิสถาปัตย์ต่อไป

ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จัดงานในครั้งนี้มี นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คณะผู้บริหารจังหวัดอุดรธานี โดยนายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) นางสาวอารีรัตน์ มนตรีปรีชาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมติดตามการตรวจสอบสถานที่ร่วมกับกับคณะกรรมการ AIPH ณ จังหวัดอุดรธานี ด้วยเพื่อเสนอการปรับปรุงผังแม่บทใหม่โดยคณะกรรมการ AIPH เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดปรับผังแม่บท ตามที่กรมวิชาการเกษตรนำเสนอ ทั้งมีข้อแนะนำในการดำเนินการภายในระยะเวลาที่จำกัดดังนี้

  1. ช่วงระยะเวลา 2 ปีหลังจากนี้ จะต้องมีแผนการดำเนินงาน และระยะเวลาในการดำเนินงาน
    ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ชัดเจน โดยต้องเร่งดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างงานก่อสร้างให้เร็วที่สุด
  2. การออกแบบอาคารควรมีความเรียบง่าย (Simplicity) ไม่สลับซับซ้อน (Complexity) โดยการจัดงานเน้นพื้นที่สีเขียวให้มาก เพื่อให้พื้นที่หลังการจัดงานฯ เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยว
    ของจังหวัดอุดรธานี เป็นความภาคภูมิใจของชาวอุดรธานีและภูมิภาคต่อไป
  • การปลูกต้นไม้ต้องคำนึงถึงคุณภาพดินในการปลูกพืช โดยเพิ่มอินทรียวัตถุ เพื่อเสริมการเจริญเติบโตของพืช และควรเลือกปลูกพืชที่เติบโตเร็วเป็นสิ่งสำคัญ
  • การเตรียมความพร้อมของระบบการขนส่ง เพื่อรองรับผู้สนใจเข้าชมงานได้อย่างเพียงพอ
  • มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และเมืองอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ
    ที่เน้นคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เข้าร่วมชมงาน และเข้าร่วมจัดสวนนานาชาติ
    สวนองค์กร สวนเมืองพี่เมืองน้อง เพื่อเพิ่มความหลากหลายและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถประชาสัมพันธ์เชิญชวนในการประชุม AIPH Spring Meeting ณ จังหวัดเชียงราย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
  • ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการ AIPH จะจัดประชุมประจำปีของสมาคม AIPH Annual Spring Meeting ซึ่งมีคณะกรรมการและสมาชิกสมาคมจากทั่วโลกมาเข้าร่วมประชุมและรายงานความก้าวหน้า โดยคาดหวังจะเห็นความก้าวหน้าและแผนการดำเนินการของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี
    ที่ชัดเจนมากขึ้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากคำแนะนำของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศในประเด็นดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร จังหวัดอุดรธานี และ สสปน. จะได้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ และคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ รวมทั้งการรายงานความก้าวหน้าพร้อมแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้นต่อคณะกรรมการ AIPH อีกครั้ง ในโอกาสการจัดประชุม AIPH Spring Meeting ณ จังหวัดเชียงราย พร้อมกับขอขอขอบคุณจังหวัดอุดรธานี สสปน. ประชาชนจังหวัดอุดรธานี หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน ที่พร้อมขับเคลื่อนให้การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 เปิดงานได้ตามวันเวลาที่กำหนด ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 นี้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated