นักวิชาการแนะ “ทางรอด รับมือ เอลนีโญ” ต้องรอบรู้เรื่องเทคโนโลยีและการวิจัย

จากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่รุนแรงขึ้น ได้สร้างความร้อนและแห้งแล้งรุนแรงมากกว่าปกติโดยเริ่มขึ้นแล้วในปี 2566 และส่งผลกระทบยาวนานอย่างน้อยถึงกลางปี 2567 ซึ่งคาดการณ์ว่า “เอลนีโญ” ในปีนี้จะหนักขึ้นและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 62 สาขาพืช จึงจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ทางรอด รับมือ เอลนีโญ” เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ห้อง 306 สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและโจทย์สำคัญสำหรับอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือ ปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้มีวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ 1) ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 2) ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 3) ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จุฑามณี ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 4) นายเปรม ณ สงขลา อดีตบรรณาธิการ “วารสารเคหการเกษตร” พร้อมผู้ดำเนินรายการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุติภรณ์ ทัสสกุลพนิช ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร กล่าวถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ “เอลนีโญ” ได้ส่งผลต่อสภาพอากาศทั่วโลกทำให้เกิดภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญโดยมีการใช้ดาวเทียมมาประมวลผลเพื่อรับมือกับภัยแล้งได้โดยใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพในการผลิตพืช ซึ่งเป็นการนำข้อมูลและประมวลผลจากอดีตจนถึงปัจจุบันและนำข้อมูลที่ได้มาบริหารจัดการในระบบการปลูกพืช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการรับมือกับเอลนีโญ

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์พืชและการผลิตพืชตามความต้องการเพื่อรับมือกับเอลนีโญ ซึ่งการนำเทคโนโลยีทางชีวภาพและงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนาพืชที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การใช้เทคโนโลยีการแก้ไขสายพันธุ์ด้วย CRISPR-Cas9 เพื่อปรับปรุงลักษณะที่สำคัญของพืช เช่น การทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช การเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการเพาะปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้น้ำและปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูกอย่างคุ้มค่าและประหยัด หรือการใช้ Heat map ที่แสดงความเสี่ยง และเลือกพื้นที่เพาะปลูกพืชที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดและการใช้ระบบการติดตามสุขภาพพืช ระบบระบุชนิดโรคพืชโดยอาศัยภาพถ่าย เพื่อการบริหารและจัดการระบบการผลิตให้เหมาะสมกับพืช

ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จุฑามณี กล่าวว่าในธรรมชาติพืชเผชิญสภาพอากาศร้อนพร้อมกับสภาวะแล้ง โดยพืชที่อยู่ในสภาวะแล้งมีวิธีในการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนภัยแล้ง และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้ดินขาวเคโอลินในประเทศไทยเป็นสารพ่นเคลือบเพื่อลดอุณหภูมิใบ ลดการคายน้ำ และลดอาการใบไหม้หรือผลไหม้ การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศบริเวณต้นพืชรวมถึงเครื่องวัดอุณหภูมิใบ การกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิเพื่อต้านทานสภาพเครียดจากความร้อนและความแล้งโดยการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต เช่น บราสสิโนสเตียรอยด์ จัสโมเนท กรดซาลิไซลิก เป็นต้น

ด้าน นายเปรม ณ สงขลา ได้เล่าประสบการณ์จากการเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้านการผลิตพืชมาประมาณ 40 ปีในระหว่างที่ได้จัดทำวารสารเคหการเกษตร จึงได้ยกตัวอย่างการปลูกมะพร้าวน้ำหอมซึ่งต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ปริมาณน้ำฝน 1,500-3,000 มิลลิเมตรและกระจายตัวดีตลอดทั้งปี และดินร่วนระบายน้ำดี ดังนั้น ความสำเร็จและการรับมือสภาวะร้อนแล้งต้องมีข้อมูลที่เพียงพอและประมวลข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งการเลือกพื้นที่ปลูกพืชสำคัญที่สุด รองลงมา คือ การออกแบบพื้นที่ปลูกและน้ำ เมื่อมีการจัดการการเพาะปลูกที่เหมาะสม รู้จักและพร้อมรับมือกับเอลนีโญจะทำให้เกิดผลผลิตและสร้างรายได้ได้เช่นกัน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated