ลุงพรเกษตรก้าวไกล ตาดูลูกทุเรียน เท้าไม่หยุดเดิน
ลุงพร..ตาดูลูกทุเรียน เท้าไม่หยุดเดิน

ระยอง จันทบุรี ตราด / 24-26 กุมภาพันธ์ 2567 ทีมงานเกษตรก้าวไกล ประกอบด้วย ลุงพร เกษตรก้าวไกล จตุพล ยอดวงศ์พะเนา และสุธิพงษ์ ถิ่นเขาน้อย ได้มุ่งหน้าไปภาคตะวันออก เพราะได้ฟังเสียงของเกษตรกรหลายคนบ่นว่าปีนี้ทำดอกทุเรียนยากมาก สอดคล้องกับข่าวที่ออกมาทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนที่สรุปว่าปีนี้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างชัดเจน

ปกติช่วงต้นปี ทุเรียนก็จะออกดอกกันบานสะพรั่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ปีนี้ลุ้นกันทุกวัน สวนทุเรียนของใครออกดอกก็จะมาโชว์กันในโลกโซเชียล บางคนนั้นถ่ายให้เห็นกันทุกระยะว่าดอกอยู่ในระยะไหน กระทั่งหางแย้ไหม้ ติดลูกกันหรือยัง บ้างก็สอบถามกันให้จ้าละหวั่นว่าหางแย้สีนั้นสีนี้จะติดไหมจะหลุดไหม บางคนก็รายงานว่าดอกร่วงหมดแล้วทำอย่างไรดี ต้องให้น้ำกี่นาที ก็น่าจะเป็นปีแรกที่ทำให้ชาวสวนทุเรียนต้องคอยแจ้งข่าวตามสื่อแบบว่าเกาะติดกันเลยทีเดียว

การเดินทางของเราในครั้งนี้ ใช้ชื่อโครงการว่า #ตามหาภูมิปัญญาทุเรียนภาคตะวันออก ก็เพื่อที่จะไปดูว่าเกษตรกรเขาได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศและมีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะส่งต่อภูมิปัญญาความรู้ทั้งหมดไปยังเกษตรกรในภูมิภาคอื่นๆที่ปกติแล้วทุเรียนภาคตะวันออก จะออกก่อนภาคอื่นๆ อย่างน้อยก็ 1 เดือน แต่ปีนี้กลับกลายเป็นว่าออกดอกล่าช้ามา 1 เดือน คือใกล้เคียงกับภาคอื่นๆแบบเบียดเสียด

วันแรกนั้น เราได้ไปเยือน “สวนทุเรียนคุณตุ้มคุณตู่” อยู่ที่บ้านแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เราได้เห็นทุเรียนออกดอกหลายรุ่นมีทั้งที่กำลังดอกเป็นมะเขือพวงทั้งที่เป็นดอกบานแรกแย้ม และเป็นดอกหางแย้ รวมทั้งที่เป็นลูกเล็กๆเท่าไข่ไก่ หรือใหญ่กว่าเป็นไข่ห่านก็มี ลุงตุ้ม บอกกับเราว่าปีนี้ที่สวนได้รับผลกระทบเยอะ ทุเรียนดอกออกหลายรุ่น (มีทั้งที่กำลังออกดอกและที่ติดลูกแล้ว-ตามภาพ)ทำให้การบริหารจัดการยากมาก โดยเฉพาะเรื่องของการให้น้ำอะไรต่างๆ เนื่องจากดอกออกไม่พร้อมกัน ถ้าบอกตอนนี้ก็ดูแล้วว่าผลผลิตน่าจะลดลงไปถึง 30% บางต้นนี้ไม่ออกดอกก็มี แถมบางต้นก็ถูกโรคไฟธอปธอร่าเล่นงาน โดยเฉพาะต้นทุเรียนสูงอายุที่อายุนับร้อยปีที่สวนมีอยู่หลายต้น และมีบางต้นที่ต้องจากไป

วันนี้เราได้เห็นภาพคนสวนกำลังโยงลูกทุเรียนโดยเฉพาะต้นทุเรียนที่สูงอายุที่กิ่งแผ่เป็นวงกว้าง ต้องใช้ไม้ไผ่ 2 ต้นเป็นกระโดงค้ำยันกิ่งจากนั้นใช้เชือกฟางโยงไปยังกิ่งทุเรียนที่อยู่รอบๆ เรียกว่าเป็นการโยงกิ่งทุเรียนหรือโยงลูกทุเรียน ซึ่งถ้าไม่โยงแบบนี้เวลาลมพัดก็จะทำให้กิ่งแบกรับน้ำหนักไม่ไหว

(เกษตรก้าวไกลLIVEสวนคุณตุ้มคุณตู่ ระยอง https://fb.watch/qEkG5zE98R/)

(เกษตรก้าวไกลLIVEสวนคุณตุ้มคุณตู่ ระยอง/โยงกิ่งทุเรียน https://fb.watch/qEkNZVce_y/)

เช้าวันรุ่งขึ้น เราเดินทางไปที่สวนสามพี่น้อง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เราโชคดีว่าคราวนี้ได้พบกับเจ้าของสวนก็คือคุณอุดม ที่มาพำนักดูแลทุเรียนอยู่พอดี ทำให้ได้คุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวทางการเกษตรพอหอมปากหอมคอ

สวนสามพี่น้องมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 3,000 ไร่ โดยมี คุณธีรภัทร อุ่นใจ “เซียนทุเรียนภาคตะวันออก” เป็นผู้ดูแลจัดการสวนทุเรียน ซึ่งในวันที่เราไปพบนั้นก็เพิ่งกลับมาจากประเทศจีนมาถึงบ้านพักตี 3 ในช่วงกลางวันคุณธีรภัทรได้พาเราไปตระเวนตามจุดต่างๆของสวน เช่น ไปดูการถอดหมวกดอกทุเรียน ไปดูการแต่งลูกทุเรียน การไว้ลูกทุเรียน ฯลฯ

รวมทั้งไปดูเรื่องของต้นน้ำหรือแหล่งน้ำของสวน ซึ่งน่าสนใจที่ว่าสวนแห่งนี้ เขาได้เก็บน้ำทุกหยดในช่วงฤดูฝนให้มาเก็บในสระ ที่ออกแบบไว้หลายจุดที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มของสวน และยังพาไปดูการขุดลอกคลองที่อยู่ใกล้ๆกันเพื่อให้น้ำไหลสะดวก และพลาดไม่ได้เรายังได้ขอความคิดเห็นเรื่องสถานการณ์ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก ในฐานะที่คุณธีรภัทรเคยเป็นนายกสมาคมพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก (รายละเอียดจะอยู่ในคลิปล่างนี้)

ในช่วงภาคกลางคืนเป็นไฮไลท์ประจำวันทางคุณธีรภัทร อุ่นใจ ได้จัดให้พวกเราไปร่วมกิจกรรม ปัดดอกทุเรียน หรือผสมเกสรทุเรียน ซึ่งการผสมเกสรเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากๆในช่วงที่ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมันจะช่วยให้ทุเรียนติดผลสมบูรณ์มากขึ้น รายละเอียดดูได้จากคลิปLIVEสด ตามลิงค์ที่แนบมา

(เกษตรก้าวไกลLIVE ขับฟอร์ดลุยสวนสามพี่น้อง โป่งน้ำร้อน https://fb.watch/qEnFbWq8cL/)

(คลิปLIVE ปัดดอกทุเรียนสวนสามพี่น้อง https://fb.watch/qEnLTtQWqr/)

ในวันที่ 3 เราออกเดินทางไปที่จังหวัดตราด ที่สวนทุเรียนลุงอี๊ด “บรรจง บุญวาที” วันนี้เราโชคดีได้ คุณชยุตกฤติ นนทแก้ว อดีตเกษตรจังหวัดตราด เป็นผู้นำทางและสมทบทีมให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น เราได้ไปพบกับลุงอี๊ดที่กำลังเตรียมจะขึ้นต้นทุเรียนเพื่อไปตัดแต่งลูกและขณะเดียวกันก็คอยควบคุมดูแลคณะบุคคลที่มาโยงกิ่งโยงลูกทุเรียนร่วม 20 คน ทุกคนใส่เสื้อสีแดง ทำให้นึกถึงทีมลิเวอร์พูล ที่ว่าค่ำคืนนั้นกำลังจะมีฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศคาราบาวคัพ และมองอีกมุมหนึ่งในระหว่างที่เขาอยู่บนต้นทุเรียนก็เหมือนสไปเดอร์แมน

สิ่งที่ได้คุยกับลุงอี๊ดนับว่ามีคุณค่าอนันต์ เพราะลุงอี๊ดถ่ายทอดความรู้จากภูมิปัญญาอันเป็นประสบการณ์ล้วนๆ โดยที่ลุงอี๊ดนั้นเติบโตมาจากเด็กตัดทุเรียนตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี และตอนอายุ 20 ต้นๆก็ปลูกทุเรียนต้นแรก สิ่งที่ภาคภูมิใจก็คือว่าทุเรียนต้นแรกที่ปลูกนั้นปัจจุบันลุงอี๊ดบอกว่าต้นเดียวทำรายได้ประมาณ 4 ล้านบาทแล้ว (รายละเอียดชมจากคลิปล่างนี้)

นอกจากนั้นลุงอี๊ดยังพาไปชมการปลูกทุเรียนริมเล (คลิกชม https://fb.watch/qEpe_MA3iz/) เป็นทุเรียนแปลงใหม่ที่ตั้งอยู่ติดทะเล เดิมเป็นบ่อกุ้งแต่ลุงอี๊ดมาปรับพื้นที่ใหม่ เห็นบอกว่าหมดค่าถมดินไป 10 ล้านบาท ทั้งนี้ก็เพราะมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสวนทุเรียนให้คนมาเที่ยว เรียกว่าทำเป็นจุดชมวิวสวนทุเรียนริมทะเล ซึ่งอนาคตน่าจะเป็นแลนด์มารค์ของจังหวัดตราดได้ด้วย

ที่นี่เรายังได้พบกับ คุณธัญญา ขาวเกลี้ยง (นายกต้อม) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด โดยที่ลุงอี๊ดและคุณชยุตกฤติ ได้นัดพบกันเพื่อพูดคุยตกลงที่จะจัดงานชิมทุเรียนริมเล ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 20-21 เมษายน 2567 และหลังจากนั้นได้พากันไปที่สวนทุเรียนของ นายกต้อม เป็นสวนทุเรียนอายุเฉียดๆ 100 ปี ต้นสูงใหญ่กิ่งก้านสาขายังกับต้นไทร

ช่วงเย็นๆ ก่อนเดินทางกลับ เรายังได้พบกับ คุณวุฒิพงษ์ รัตนมณฑ์ ประธานสันนิบาติสหกรณ์ จ.ตราด ประธานเครือข่ายสหกรณ์ จ.ตราด อดีตประธานหอการค้า จ.ตราด (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา) และในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนหลายร้อยไร่ ได้มีการพูดคุยในประเด็นผลผลิตทุเรียนในปี 2567 รวมทั้งสถานการณ์ราคาทุเรียนที่จะเปิดฤดูกาลในเร็วๆนี้ โดยคุณวุฒิพงษ์ มีความเห็นที่แตกต่างกับทุกคนที่กล่าวมา ซึ่งมองว่าผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกปีนี้น่าจะลดอย่างน้อย 20-30% แต่คุณวุฒิพงษ์มองว่าจะเท่าๆเดิมหรือมากกว่าเดิมเล็กน้อย (รายละเอียดเพิ่มเติมชมได้จากคลิป)

ทั้งหมดนี้ก็ประมวลมาคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพของโครงการตามหาภูมิปัญญาทุเรียนภาคตะวันออกรอบที่ 1/2567 แน่นอนว่าเราจะมีรอบที่ 2 ในช่วงที่ทุเรียนออกลูกพร้อมตัดได้ แต่รอบ 2 นี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะลุย ในโซนของจังหวัดระยอง ให้ลงลึกหน่อย แต่ถ้ามีเวลาเหลือก็อาจจะมาที่จันทบุรีด้วย

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณผู้สนับสนุนก็คือ ฟอร์ดประเทศไทย ที่ให้ใช้ฟอร์ดเรนเจอร์เป็นพาหนะ ให้เราได้ออกเดินทางลุยสวนทุเรียนต่างๆ และที่จะพลาดไม่ได้ขอบคุณเกษตรกรทุกคนที่แบ่งปันความรู้ เราหวังว่าความรู้ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้สนใจไม่มากก็น้อย

อย่าลืม!! พบกับโครงการตามหาภูมิปัญญาทุเรียนภาคตะวันออก รอบ 2/2567 ช่วงปลายเดือนมีนาคม – ต้นเมษายน นะครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated