ปุ๋ยลุงพร..กระสอบแรกขายได้แล้ว คุณหมอปัญญาสั่งและส่งถึงฟาร์มแล้ว

ยามเย็นย่ำของวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ลุงพร เกษตรก้าวไกล และ ศุภชัย นิลวานิช ได้เดินทางไปที่ ปัญญาฟาร์ม ตำบล วังน้ำเขียว อำเภอกำแพงแสน นครปฐม ได้ตะลึงกับต้นไม้ใหญ่หลายชนิด โดยเฉพาะต้นไทรที่กลายเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับต้นไม้ชนิดอื่นๆ รวมทั้งบรรดานกนานาชนิด ที่ส่งเสียงร้องยามเย็นเหมือนว่ากำลังประชุมสรุปผลการดำเนินงานและการออกหาอาหารการกินประจำวัน หรือไม่ก็อาจจะตกลงกันว่าคืนนี้ใครจะนอนกิ่งไม้ไหน

“สวัสดีครับ คุณหมอปัญญา…ปุ๋ยที่สั่งมาแล้วครับ” ลุงพร หมุนกระจกด้านซ้ายลงทักทายผสมรอยยิ้ม ก่อนที่จะลงจากรถมาทักทายอย่างเป็นทางการอีกรอบ ซึ่งเจ้าของสวนป่าขนาดใหญ่ยืนรอต้อนรับอยู่แล้ว

คุณหมอปัญญาที่เราเรียกขานก็คือ นายแพทย์ปัญญา ยังประภากร ทายาทฟาร์มจระเข้สมุทรปราการที่โด่งดังในอดีต ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ฟาร์มจระเข้ที่ใครๆก็ต้องรู้จักในสมัยหลายสิบปีก่อน

สมัยนั้นผมทั้งสองคน(ลุงพรและศุภชัย)เป็นนักข่าวหัวเห็ดประจำอยู่เครือมติชน โดยเฉพาะคุณศุภชัยนั้นเป็นผู้สื่อข่าวสัตว์น้ำประจำกองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เขาล้วงลึกเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิด รวมทั้งการเลี้ยงจระเข้ ทั้งการนำเสนอข่าว จัดสัมมนา และเสวนาเกษตรสัญจรครบเครื่องทีเดียว

คุณหมอปัญญา บอกว่าจะเอาปุ๋ยอินทรีย์เกษตรก้าวไกลหรือ “ปุ๋ยลุงพรสั่งได้” ไปใส่ต้นไทรที่กำลังอนุบาลอยู่ในเข่งจำนวนมาก โดยไปใส่สลับกับปุ๋ยหมักจากใบไม้ที่ทำขึ้นใช้เอง

ว่าแล้ว คุณหมอปัญญาก็พาออกเดินชมสวนป่า และหยุดอยู่ตรงต้นไทรที่อยู่ในเข่งขนาดใหญ่

“ต้นไม้ในเข่งนี่ต้นไทรไหมครับ” ลุงพร ถาม

“ใช่ครับ ผมตอนกิ่งมาเพื่อที่จะนำไปปลูกที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งตั้งอยู่ที่บางพลีใหญ่ สมุทรปราการ ผมเป็นศิษย์เก่า เรียนจบจากที่นั่นครับ” หมอปัญญา เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ และเล่าต่อว่า …

“พอปลูกต้นไทรก็ร่มรื่น นกมาอยู่อาศัยจำนวนมาก และช่วยปลูกต้นไม้ต้นอื่นๆให้กับเรา…เขาจะถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยและเมล็ดพืชที่เขากินที่ถ่ายออกมาก็กลายเป็นต้นไม้งอกขึ้นมาใหม่…ธรรมชาติสร้างขึ้นได้เองครับ”

“ต้องใช้เวลากี่ปีจึงจะกลายเป็นสวนป่าขนาดใหญ่แบบนี้ครับ” ลุงพร ถาม

“ใช้เวลา 20 กว่าปีครับ” คุณหมอปัญญา ตอบ

หลังจากนั้นคุณหมอปัญญา ก็พาเดินต่อไปหยุดที่บึงน้ำใหญ่ บนต้นไม้นั้นเสียงนกน้ำชนิดต่างๆ กำลังส่งเสียง ประสานกับเสียงนกป่า บ้างก็บินไปมา บ้างก็จับจองกิ่งไม้ที่จะใช้พักผ่อนในค่ำคืน

“ไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะได้เจอภาพนี้ นกเยอะมากครับ ไม่เคยเห็นนกเยอะขนาดนี้มาก่อน..มันสุดยอดมากครับ” เสียงของผู้มาเยือนตื่นเต้นพอสมควรและจัดแจงถ่ายรูปมาอวดเพื่อนๆ

คุณหมอปัญญาบอกว่าให้หันลงมามองพื้นล่างหลังจากที่เราตื่นเต้นอยู่กับฝูงนกชนิดต่างๆ เราก็เหลือบไปเห็นไอ้เข้ตัวหนึ่งนอนนิ่งอยู่ เหมือนว่าเพิ่งโผล่ขึ้นมาจากน้ำไม่นาน เพราะที่หัวเห็นมีพืชน้ำคลุมอยู่ “จระเข้ตัวนี้อายุประมาณ 30 ปีแล้ว เรานำมาจากฟาร์มที่สมุทรปราการครับ” คุณหมอปัญญา อธิบายเสริม

เราได้ชื่นชมกับธรรมชาติเป็นเวลาพอสมควรก็ออกเดินทางมาถึงทางแยก เห็นมีป้ายเขียนว่า Crocodile Forest ซึ่งก็คือสวนป่าจระเข้ หรือสวนสัตว์จระเข้ อัตลักษณ์ของผืนป่าที่ยังคงอยู่…

ปิดท้ายคุณหมอปัญญาพาไปชมห้องนิทรรศการจระเข้ที่อยู่ในห้องประชุมเอาไว้บรรยายเวลามีนิสิตนักศึกษาหรือประชาชนมาดูงาน ซึ่งในห้องนี้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดของที่มาที่ไปของสถานที่แห่งนี้ได้อย่างครบถ้วน

เรามานึกย้อนไปในอดีต คุณหมอปัญญาได้ต่อสู้ที่จะผลักดันให้จระเข้ากลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจแต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือเรียกโดยย่อว่า ไซเตส ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างก็ยังไม่ได้ไปต่อ แต่ด้วยความรักความผูกพันในอาชีพก็ยังให้ความสนใจศึกษาเรื่องจระเข้และสัตว์ป่าอย่างไม่ปล่อยวาง

วันนี้ก่อนกลับ คุณหมอปัญญาให้เกียรติถ่ายภาพร่วมกับปุ๋ยเกษตรก้าวไกล และพูดให้กำลังใจว่า “วันนี้ผมสั่งมาแค่นี้ก่อน แต่จะสั่งมาเพิ่มอีกครับ” ก็เป็นอันว่าปุ๋ยเกษตรก้าวไกลหรือปุ๋ยลุงพรสั่งได้กระสอบแรกขายได้แล้ว

สำหรับเราสองคนแล้ว ถือเป็นสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ “ปลูกต้นไทรแค่หนึ่งต้นก่อน ต้นอื่นๆก็จะตามมา..นกที่มาพักอาศัยจะมาช่วยเราปลูกเอง” เรานึกถึงคำพูดของคุณหมอปัญญา..เราก็หวังว่าปุ๋ยเกษตรก้าวไกลที่เกิดจากความรักที่ใช้เวลาร่วม 2 ปี กว่าที่จะมาส่งมอบกระสอบแรกได้คงจะได้เดินทางต่อไป

เหมือนต้นไทรที่เริ่มจาก 1 ต้น และแผ่ไพศาลในเวลาต่อมา..อย่างแน่นอนครับ

อนึ่ง ปุ๋ยอินทรีย์เกษตรก้าวไกล หรือชื่อเรียกขานแบบกันเองว่า “ปุ๋ยลุงพรสั่งได้” ผลิตโดย อาจารย์สมาน รักษาพราหมณ์ ผู้มีประสบการณ์เรื่องจุลินทรีย์และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์มานานหลายสิบปี วัตถุดิบที่เป็นสวนผสมในกระสอบ ประกอบด้วย มูลค้างคาว มูลโคขุน อย่างละ 30% มูลไก่ไข่ และมูลปลา(กากตะกอนโรงงานปลากระป๋อง) อย่างละ 20% หมักนานเป็นปีๆ ตามมาตรฐานการผลิตที่ถูกต้องตามระเบียบของกรมวิชาการเกษตร โรงงานผลิตอยู่ที่ ต.ดอนตูม อ.บางเลน จ.นครปฐม

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated