รัฐมนตรีเกษตรฯ ย้ำต้องเก็กกับน้ำไว้ให้มากที่สุด

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้านโยบายบริหารจัดการน้ำและมาตรการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2566/67 ว่า แม้ว่าประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2566 แต่จากข้อมูลพบว่า ปริมาณฝนสะสมยังต่ำกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 8 และการกระจายตัวของฝนไม่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้ในบางพื้นที่จะประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำและปริมาณน้ำต้นทุนอาจจะมีไม่เพียงพอให้ใช้ในระยะยาว

โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 มีการประเมินว่าจะมีสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ 16.51 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่นอกเขตชลประทาน 9.17 ล้านไร่ ในเขตชลประทานบริเวณพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 7.34 ล้านไร่ แต่เนื่องจากมีปริมาณฝนตกมากในช่วงปลายฤดู จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด และมอบนโยบายให้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่คาดว่าจะเป็นน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งนี้ จำนวน 39,457 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2565 มีน้ำต้นทุน 43,740 ล้าน ลบ.ม.) ทำให้สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศได้ 10.66 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 8.13 ล้านไร่ (ในเขต ชป. 5.80 ล้านไร่ นอกเขต ชป. 2.33 ล้านไร่) และพืชไร่ พืชผัก 2.53 ล้านไร่ (ในเขต ชป. 0.57 ล้านไร่ นอกเขต ชป. 1.96 ล้านไร่) สำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จากเดิมคาดว่าจะไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูก แต่ในช่วงแล้งนี้สามารถสนับสนุนให้เพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 4.20 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 3.03 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.17 ล้านไร่

“กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุน และดำเนินการเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดสำหรับฤดูแล้งที่จะถึงนี้ สำหรับพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย พร้อมให้เร่งหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เพื่อเร่งทำฝนบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ ในช่วงปลายฤดูฝน ทั้งนี้ นโยบายการบริหารจัดการน้ำที่ดีจะช่วยเก็บรักษาน้ำไว้ให้สามารถใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการอุปโภค บริโภค และการเพาะปลูกได้ตลอดจนถึงช่วงสิ้นสุดปรากฏการณ์เอลนีโญ” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว   

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated