ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช
ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช

เทดฟันด์ ชู “โรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วม” ตอบโจทย์ BCG Model ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ช่วยเกษตรกรจังหวัดพัทลุงแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเพิ่มมูลค่า กำลังการผลิตสูงแถมใช้งานได้ทุกฤดูกาล

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่โรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วม ที่สวนนาวริมนา ต.โคกชะงาย อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งเทดฟันด์ให้การสนับสนุนทุนทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้ทางธุรกิจ โดย นายธีรยุทธ ทองทวี CEO ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศุภากร คอนโทรล นำชมโรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมที่ใช้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนร่วมกับโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ความร้อนร่วมจากการเผาไหม้ของชีวมวลเป็นพลังงานความร้อนโดยแยกเขม่าควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ออก และนำเพียงความร้อนที่ได้ส่งเข้าไปภายในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาและเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี อีกทั้งหากผู้ประกอบการมีโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์อยู่แล้วสามารถเลือกที่จะติดตั้งเพียงเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนร่วมเพิ่มได้ จุดเด่นคือการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงอบได้ผ่านตู้ควบคุม IoT ซึ่งใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็ได้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอบแห้งมีคุณภาพ

นายธีรยุทธ กล่าวว่า โรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วม ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเทดฟันด์ในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) โปรแกรม “Proof of Concept” จำนวนเงินที่ได้รับ 1,425,135 บาท โดยมีเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นพี่เลี้ยง ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมรุ่นใหม่ให้คิดค้นการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าพืชผลทางการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากพัทลุงเป็นอีก 1 จังหวัดที่อยู่ในเขตร้อนชื้น ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ซึ่งจะนำพืชผลทางการเกษตรไปแปรรูปด้วยวิธีทำแห้งใช้วิธีตากแดดแบบดั่งเดิม โดยนำตาข่ายมาปูที่ลานหรือข้างถนน จากนั้นนำผลิตภัณฑ์มาวางบนตาข่าย ซึ่งวิธีนี้จะมีพวกฝุ่นละอองและแมลงต่างๆ มาเกาะที่ผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีสิ่งเจือปน แม้ต่อมาจะมีการพัฒนาทำโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์รูปทรงพาราโบลาโดยกระทรวงพลังงาน แต่ก็ยังติดปัญหาตรงที่ไม่สามารถตากได้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดดหรือในช่วงฤดูฝน ทำให้เกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจ ไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง

นายธีรยุทธฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รศ.ดร.จตุพร แก้วอ่อน อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยทักษิณและทีมได้มีการทำวิจัยโรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วม โดยใช้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนร่วมกับโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งโรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วมใช้การเผาไหม้ของชีวมวลเป็นพลังงานความร้อนโดยแยกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ออกและนำเพียงความร้อนที่ได้ส่งเข้าไปภายในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาและเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากผู้ประกอบการมีโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์อยู่แล้วสามารถเลือกที่จะติดตั้งเพียงเครื่องอบพลังงานความร้อนร่วมเพียงอย่างเดียว โดยจุดเด่นของโรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วมอยู่ที่การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงอบได้ผ่านตู้ควบคุม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอบแห้งมีคุณภาพ ที่สำคัญใช้งานได้ทุกช่วงฤดูกาล

ด้าน ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า การสนับสนุนทุนในการพัฒนาโรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วมเป็นนโยบายของเทดฟันด์ที่มุ่งผลักดันสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ดำเนินธุรกิจบนฐานของ BCG Model มาโดยตลอด โดยโครงการนี้ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของกระทรวง อว. และเทดฟันด์ที่ได้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเทดฟันด์มีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อน BCG Model ผ่านการสนับสนุนทั้งเงินทุน องค์ความรู้ พี่เลี้ยงทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการมาตอบโจทย์สังคมไทยที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated