เกษตรกรเปิดใจหลังลองเลี้ยง
เกษตรกรเปิดใจหลังลองเลี้ยง "กุ้งขาวสิชล1" จากกรมประมง เผยเลี้ยงง่าย โตไว ปลอดโรค สร้างรายได้ด้วยสายพันธุ์กุ้งคุณภาพ

กุ้งขาวสิชล 1… หนึ่งในผลงานวิจัยของกรมประมงที่ศึกษาวิจัยพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านการทดสอบการเลี้ยงจริงในบ่อดินจนประสบความสำเร็จ กรมประมงผลิตกุ้งขาวสิชล 1 พันธุ์ขยายเพื่อส่งต่อลูกพันธุ์คุณภาพให้กับเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลไทยให้รองรับกับความต้องการของตลาด ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เพราะกุ้งขาวนับเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศษฐกิจของประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นล้านบาท

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงพัฒนากุ้งขาวสิชล 1 ขึ้น โดยชูคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ เลี้ยงง่าย โตไว ไร้โรค ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการเลี้ยงในประเทศไทยได้ดี ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรได้ทดลองเลี้ยง กรมประมงได้กระจายพันธุ์กุ้งสิชล 1 สู่ภาคการเพาะเลี้ยง ด้วยการแจกจ่ายพ่อแม่พันธุ์กุ้งไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทั่วประเทศ เพื่อเพาะขยายพันธุ์และจำหน่ายลูกพันธุ์ให้กับเกษตรกรได้นำไปทดลองเลี้ยงในฟาร์ม และมั่นใจว่าด้วยคุณสมบัติพันธุ์และระบบการอนุบาลที่ได้มาตรฐานการผลิตกุ้งที่ปลอดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค 8 โรค ได้แก่ โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคทอร่า (TSV) โรคกล้ามเนื้อขาวหรือกล้ามเนื้อตาย (IMNV) โรคแคระแกร็น (IHHNV) โรคหัวเหลือง (YHV) โรค covert mortality nodavirus (CMNV) โรคตายด่วนเนื่องจากแบคทีเรียที่ทําให้เกิดตับวายเฉียบพลัน (EMS-AHPND) และเชื้อ Enterocytozoon hepato penaei (EHP) อีกทั้งยังสามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปโดยไม่จำเป็นต้องใช้อาหารสดเพื่อลดการติดเชื้อต่างๆ เข้าสู่พันธุ์กุ้ง จึงส่งผลให้เกษตรกรได้เปิดใจลองเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์นี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

กรมประมงส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 พร้อมแนะนำให้ใช้จุลินทรีย์ของกรมประมง ในการช่วยควบคุมคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมในบ่อให้สมดุล ตลอดจนติดตามผลการเลี้ยงของเกษตรกรอย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจากการรายงานในปี 2564 – 2565 พบว่า มีเกษตรกรมากกว่า 50 รายเริ่มเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ในพื้นที่ 32 จังหวัด สามารถผลิตกุ้งได้ประมาณ 3,000 ตัน รวมมูลค่ากว่าสามร้อยล้านบาท

นางนภัทร ธราพร เจ้าของกุ้งเพชรฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางฟาร์มได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ประมาณกลางปี 2564 เนื่องจากมีนักวิชาการกรมประมงลงพื้นที่มานำเสนอและให้คำแนะนำให้ทดลองเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์คุณภาพ ปลอดโรค ที่กรมประมงได้มีการปรับปรุงพันธุ์ได้ล่าสุด โดยเริ่มต้นทางฟาร์มได้ซื้อลูกพันธุ์กุ้งสิชล 1 มาทดลองเลี้ยงและปล่อยลงในบ่อดินพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ จำนวน 2 บ่อ จำนวน 180,000 ตัว สามารถจับผลผลิตขนาด 50 ตัว/กก. จำนวน 3,400 กก. คิดเป็นมูลค่า 697,000 บาท ปัจจุบันทางฟาร์มฯ ยังคงใช้พันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไว้วางใจเรื่องสายพันธุ์กุ้งของกรมประมง ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันปัญหาเรื่องโรคระบาดในการเลี้ยงกุ้งทะเล  นอกจากนี้ทางฟาร์มยังให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการของเสียภายในฟาร์มโดยใช้จุลินทรีย์ของกรมประมงเพื่อผลิตกุ้งทะเลคุณภาพจากฟาร์มออกสู่ตลาดต่อไป

นางอรัญญา ประมวลสุข เจ้าของอรัญญาฟาร์ม จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ประมาณปี 2565 ทางฟาร์มได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 เนื่องจากทราบมาว่าเป็นกุ้งขาวสายพันธุ์ใหม่ของกรมประมงที่โตไว ซึ่งเดิมทางฟาร์มประสบปัญหาเรื่องกุ้งโตช้า บางครั้งเลี้ยงมา 90 วัน กุ้งขาวยังโตไม่ได้ขนาด จึงลองเปิดใจลงลูกพันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 ในบ่อดิน จำนวน  
2 บ่อ พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ควบคู่ไปกับการใช้จุลินทรีย์ของกรมประมงอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และการเตรียมความพร้อมบ่อเลี้ยงก่อนลงพันธุ์กุ้ง ซึ่งผลจากการเลี้ยงออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมากพันธุ์โตไว ส่งผลให้จับผลผลิตขายได้เร็วขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น และจากการเก็บข้อมูลการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปี 2565 ทางฟาร์มสามารถลงเลี้ยงกุ้งได้ 3 รอบ ผลิตกุ้งขาวได้รวม 10.5 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,787,500 บาท 

ว่าที่ร้อยตรี อวยชัย สุภัตราภรรณ์ เจ้าของฟาร์มกุ้งทอง และฟาร์มสาธิตการเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ทางฟาร์มฯ ได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ในปี 2565 เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรมประมงได้ลงพื้นที่มาเสนอให้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โดยชูจุดเด่นที่ว่า เป็นสายพันธุ์กุ้งคุณภาพ ปลอดโรค โตไว น้ำหนักดี ทางฟาร์มจึงสนใจและทดลองเลี้ยงในบ่อดินเริ่มต้น 2 บ่อ ซึ่งผลออกมาเป็นที่พึงพอใจ เนื่องจากกุ้งโตไวและน้ำหนักดี จากปกติเลี้ยงกุ้งขาวสายพันธุ์อื่นจะใช้เวลาในการเลี้ยง ประมาณ 4 เดือน แต่สำหรับ กุ้งขาวสิชล 1 ใช้เวลาในการเลี้ยงเพียง 3 เดือน ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการเลี้ยงได้มากยิ่งขึ้น โดยรอบแรกสามารถลงกุ้งประมาณแสนกว่าตัว/ไร่ สามารถได้ผลผลิต 23 ตัว/กิโลกรัม ถือเป็นขนาดที่ตลาดต้องการและได้ราคาอยู่ที่ประมาณ 230/กก. ปัจจุบันทางฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ประมาณ 10 กว่าบ่อ ซึ่งผลผลิตออกมาเป็นที่พึงพอใจจะเห็นได้จากปี 2565 ทางฟาร์มฯ สามารถจับผลผลิตได้ประมาณ 13,168.25 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 2,931,061 ล้านบาท

นายมานพ รัตนเดโช เจ้าของมานพฟาร์ม จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางฟาร์มได้ทราบข้อมูลผลการเลี้ยงกุ้งขาวสิชล1 จากเพื่อนๆในกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งทะเลจึงมีความสนใจและได้ซื้อลูกกุ้งขาวสิชล 1 จากกรมประมงมาทดลองเลี้ยงในบ่อขนาด 4 ไร่ จำนวน 400,000 ตัว โดยพื้นที่การเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ที่น้ำมีความเค็มต่ำโดยเฉลี่ยประมาณ 5 พีพีที การเลี้ยงจะใช้จุลินทรีย์ของกรมประมง ควบคุมคุณภาพน้ำตั้งแต่เริ่มปล่อยกุ้งจนถึงการจับ โดยพบว่าขี้เลนในบ่อมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด กุ้งขาวสิชล1 มีสุขภาพแข็งแรงดี การเจริญเติบโตจัดเป็นกุ้งที่โตเร็ว สามารถเลี้ยงได้ตามแผนการผลิตที่วางไว้ กุ้งขาวสิชล1 สามารถเลี้ยงได้นานเกิน 60 วัน โดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ  จนกระทั่งเมื่อกุ้งมีอายุ 83 วัน ทางฟาร์มก็เริ่มจับกุ้งจำหน่าย สามารถได้ผลผลิตขนาดเฉลี่ย57 ตัวต่อกิโลกรัม ได้น้ำหนักผลผลิตจำนวนทั้งสิ้น 4,200 กิโลกรัม ราคาจำหน่าย 170 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 714,000 บาท ได้กำไรเกินเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

แม้จะเป็นการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ที่มีความเค็มต่ำก็ตามรองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า จากผลการตอบรับของเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ กล่าวได้ว่า “กุ้งขาวสิชล 1 เป็นทั้งทางเลือกและทางรอด” สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ต้องการเลี้ยงกุ้งฝ่าวิกฤตในช่วงนี้ นอกจากนี้กรมประมงได้จัดอบรมให้เกษตรกรได้มีความรู้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งสิชล 1 เพื่อให้ได้กุ้งคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนการสร้างช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น สำหรับเกษตรกรผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โทร. 0-2579 – 4496 ®

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated