กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีปลูกกะหล่ำปลีลดใช้สารเคมี พร้อมสร้างชุมชนต้นแบบจังหวัดเพชรบูรณ์ 100 ราย
กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีปลูกกะหล่ำปลีลดใช้สารเคมี พร้อมสร้างชุมชนต้นแบบจังหวัดเพชรบูรณ์ 100 ราย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พืชตระกูลกะหล่ำ เป็นพืชผักที่สำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง มีพื้นที่ปลูกจำนวน 34 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 69,108 ไร่ ให้ผลผลิตรวม 248,440 ตัน โดยมีพื้นที่ปลูกมากในอำเภอหล่มเก่า และอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นเหมาะสมกับการเจริญเติบโต มีพื้นที่ปลูก 19,256 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1.5 แสนตัน อย่างไรก็ตามการปลูกพืชตระกูลกะหล่ำมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีปริมาณมาก ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและหากมีสารตกค้างจะเป็นอันตรายผู้บริโภค อีกทั้งยังเกิดการปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อมอีกด้วย

ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินงานวิจัยการลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตกะหล่ำปลีโดยใช้วิธีผสมผสานในโรงเรือนและสภาพแปลง เพื่อศึกษาวิธีการลดการใช้สารเคมีในพืชดังกล่าว โดยการใช้สารไคโตซานเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้พืชแข็งแรงต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้มากขึ้น รวมถึงการใช้ชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย ซึ่งมีศักยภาพในการควบคุมแมลงได้หลายชนิด เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงสูงในการทำลายเฉพาะแมลงเป้าหมายเท่านั้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินการลดการใช้สารเคมีในการปลูกกะหล่ำปลีตามเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรทั้งในโรงเรือนและสภาพแปลงปลูกของเกษตรกร คือ ใช้สารไคโตซานอัตรา 200 ppm/น้ำ 20 ลิตร เชื้อชีวภัณฑ์ BT 80-100 อัตรา 80-100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และใช้กับดักกาวดักแมลง ขนาด 15X 20 ซม. จำนวน 200 ป้าย/ 1 ไร่ ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการลดการใช้สารเคมีในการผลิตกะหล่ำปลีในโรงเรือนและสภาพแปลง เมื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาการทดสอบในแปลงเกษตรกรจำนวน 10 แปลง เพื่อเปรียบเทียบวิธีที่เกษตรกรใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชกับเทคโนโลยีลดการใช้สารเคมีในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชที่เหมาะสมของกรมวิชาการเกษตร พบว่า เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงและลดการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง โดยเปรียบเทียบการผลิตกระกล่ำปลีในพื้นที่ 0.5 ไร่พบว่าการใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมีต้นทุน 6,900 บาท รายได้ 23,400 บาท ในขณะที่กรรมวิธีของเกษตรกรมีต้นทุน 8,900 บาท รายได้ 21,250 บาท”

ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ ได้จัดทำโครงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยมาจัดอบรมเกษตรกร หลักสูตร “การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำเพื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่สูง” เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้กับเกษตรผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต สร้างชุมชนต้นแบบในการผลิตพืชตระกูลกะหล่ำของเกษตรกรของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยดำเนินการในกลุ่มเป้าหมาย คือเกษตรกร อ.เขาค้อ และ ต.วังบาล (ทับเบิก) อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 100 ราย และสร้างแปลงต้นแบบจำนวน 5 แปลง

“ก่อนที่ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์จะนำเทคโนโลยีการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำเพื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่สูงมาถ่ายทอดในพื้นที่ เกษตรกรเชื่อว่าการปลูกกะหล่ำปลีต้องใช้สารเคมีเท่านั้นจึงจะสามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูในกะหล่ำปลีได้ แต่หลังจากถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วพบว่าในแปลงต้นแบบสามารถปลูกกะหล่ำปลีที่มีคุณภาพได้เทียบเท่าการปลูกกะหล่ำปลีโดยใช้สารเคมี แต่สามารถลดต้นทุน และทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรขอให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์เป็นวิทยากรให้คำแนะนำการใช้เทคโนโลยีการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำโดยใช้สารชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรควบคู่กับการใช้กับดักกาวเหนียว ซึ่งสามารถป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชได้เช่นเดียวกับการใช้สารเคมี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated