กรมวิชาการเกษตร โชว์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก.สุพรรณบุรี 1 ในงานประชุมวิชาการน้ำตาลนานาชาติ ประเทศอินเดีย
กรมวิชาการเกษตร โชว์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก.สุพรรณบุรี 1 ในงานประชุมวิชาการน้ำตาลนานาชาติ ประเทศอินเดีย

กรมวิชาการเกษตร วิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ “กวก.สุพรรณบุรี 1” ให้ผลผลิตน้ำอ้อยและผลผลิตอ้อยสูงกว่าพันธุ์เดิม ลุยเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เกษตรกร นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหวังสนับสนุนอาชีพและอุตสาหกรรมน้ำอ้อยของไทย พร้อมโชว์ผลงานวิจัยผ่านการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ณ ประเทศอินเดีย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่าศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ “กวก.สุพรรณบุรี 1” ที่มีผลผลิตน้ำอ้อยและผลผลิตอ้อยสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เพื่อเป็นพันธุ์ทางเลือกให้ปลูกทดแทนพันธุ์เดิมที่ปลูกเกษตรกรนิยมปลูกและได้ปลูกติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 20 ปีอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการใช้พันธุ์เชิงเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 120,000 ไร่ กระจายทั้งในเขตชลประทาน น้ำเสริม และเขตน้ำฝน ซึ่งอ้อยคั้นน้ำพันธุ์กวก.สุพรรณบุรี 1มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอาชีพและอุตสาหกรรมน้ำอ้อยที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก และผู้ผลิตอ้อยคั้นน้ำ

อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก.สุพรรณบุรี 1มีลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 3,622 ลิตรต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ถึงร้อยละ 26 โดยให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 11.43 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ถึงร้อยละ 21 มีกลิ่นหอม รสชาติหวานความหวานอยู่ที่ 21.54 องศาบริกซ์สีน้ำอ้อยมีสีเหลืองอมเขียวเจริญเติบโตเร็ว ลำแตกน้อย กว่าเดิม

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ได้นำผลงานวิจัยอ้อยทางด้านปรับปรุงพันธุ์ เขตกรรม และอารักขาถ่ายทอดสู่เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยการจัดฝึกอบรมร่วมจัดนิทรรศการและเป็นวิทยากรตามหน่วยงานต่างๆ ผ่านการบรรยายเช่น พันธุ์อ้อยและการทำแปลงพันธุ์ การใช้ปุ๋ยในไร่อ้อยอย่างถูกต้องและเหมาะสมและการจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยสดโรคและแมลงศัตรูอ้อยและการป้องกันกำจัดการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเป็นต้นซึ่งมีผู้ได้รับความรู้มากกว่า 2,000 คนต่อปี

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ “กวก.สุพรรณบุรี 1” ได้นำเสนอผลงานวิจัยผ่านการประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่ การประชุมวิชาการน้ำตาลนานาชาติ “SUGARCON 2022” 7th IAPSIT International Sugar Conference & Expo ณ สถาบันวิจัยอ้อยแห่งประเทศอินเดีย เมืองลักเนา ประเทศอินเดีย รวมทั้งยังมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เกษตรกร นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated