TED Fund สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ จ.สงขลา หนุนโครงการ “ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว”หรือ“เข็มละลาย”ทางเลือกใหม่แทนการใช้เข็มโลหะในการฉีดยา ทั้งยังแก้โรคกลัวเข็ม เผยมีประสิทธิภาพในการนำส่งยาระดับลึก แต่ไม่ทำให้เกิดแผล เตรียมนำไปใช้กับกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในชุมชนที่ห่างไกลหรือชุมชนบนเขาลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามภารกิจการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ภายใต้โครงการ “ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว” ซึ่ง TED Fund ได้ให้ทุนสนับสนุนในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) แก่บริษัท อี.ซี.เน็กซ์ จำกัด

โดย ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้นำผลงานวิจัยไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยการสนับสนุนภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ถือเป็นเป้าหมายการดำเนินงานที่สำคัญของ TED Fund ซึ่งโครงการ“ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว” ถือเป็นการตอบโจทย์ตามเป้าหมาย ด้วยเป็นทางเลือกหนึ่งแทนการใช้เข็มโลหะในการฉีดนำส่งยา วัคซีนหรือสารออกฤทธิ์เข้าสู่ร่างกายที่เป็นวิธีการทางการแพทย์ปัจจุบัน ทั้งยังแก้ภาวะโรคกลัวเข็มด้วย ทั้งนี้ ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว ถูกออกแบบให้ใช้แทนเข็มโลหะได้ และมีประสิทธิภาพในการนำส่งยาระดับลึก แต่ไม่ทำให้เกิดแผล มีการนำส่งสารออกฤทธิ์โดยเน้นมาจากการสกัดสมุนไพรที่มาจากกลุ่มออร์แกนิค สำหรับการใช้งานด้านเวชสำอางค์และฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีผลในการกระตุ้น ฟื้นฟูและปรับสภาพผิว โดยสามารถออกแบบระบบเข็มเสริมด้วยเทคนิคพิเศษทางการแพทย์นาโนด้วยการบรรจุสารออกฤทธิ์ด้วยนาโนแคปซูลซึ่งมีปริมาณขนาดของยาที่เหมาะสมกับร่างกายลงในตัวเข็มที่สามารถสลายตัวได้และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

“ผู้ประกอบการมีความตั้งใจที่จะนำนวัตกรรมทางการแพทย์นี้สำหรับใช้ส่งยาปริมาณที่น้อยและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในรูปแบบแผ่นแปะเข็มไมโครนีดเดิ้ลให้ถึงกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในชุมชนที่ห่างไกลหรือชุมชนบนเขา เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อพบปัญหาด้านสุขภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะต้องเดินทางไกลเพื่อมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิต ดังนั้น นวัตกรรมนี้จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของกลุ่มคนเหล่านี้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในระยะแรกผู้ประกอบการจะนำนวัตกรรมนี้ มาช่วยในเรื่องการฟื้นฟูสภาพผิวของคนที่มีปัญหาริ้วรอยควบคู่กับการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย พัฒนามุ่งสู่การแพทย์แล้วยังสามารถพัฒนาระดับต้นน้ำโดยการส่งเสริมอาชีพการเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตพืชที่มีสารสำคัญและมาผ่านกระบวนการสกัดเพื่อนำมาบรรจุลงในเข็มละลาย

นางจุลินทิพย์ พุทธวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อี.ซี.เน็กซ์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ในการดำเนินการของบริษัทฯ ทาง TED Fund ได้จัดให้มีหน่วยงานพี่เลี้ยง หรือ TED Fellow เข้ามาคอยช่วยเหลือสนับสนุนตลอดโครงการ ซึ่งนำมาสู่การประสบความสำเร็จ อีกทั้งจากการสนับสนุนจาก TED Fund  ทั้งปัจจุบัน และอนาคต เทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีกว่าเดิมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ในทุกระดับชุมชนท้องถิ่นหรือพื้นที่ห่างไกล, การสร้างงาน สร้างอาชีพที่เข้มแข็ง การสร้างโมเดลความร่วมมือ กับ ภาครัฐ-เอกชน-มหาวิทยาลัย และบริษัท อี.ซี.เน็กซ์ จำกัด  ทำให้พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีระบบนำส่งยาด้วยเข็มละลายได้ใต้ผิวหนัง แบบไม่ต้องเจ็บ ไม่ปวด และ ไม่มีการติดเชื้อ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืน       

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated