มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือกับ ไบโอม พัฒนาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ สร้างนักวิจัยและนวัตกรตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือกับ ไบโอม พัฒนาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ สร้างนักวิจัยและนวัตกรตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ไบโอม จำกัด ในการสนับสนุนร่วมกันสร้างและพัฒนากำลังคนทางด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงนวัตกรที่มีสมรรถนะและทักษะขั้นสูง ในสาขาชีววิทยาสังเคราะห์ ให้มีจำนวนมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและเป็นเลิศระดับสากล

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) เป็นคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ สร้างผลกระทบสูงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันตลาดชีววิทยาสังเคราะห์ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญต่อการยกระดับขีดความสามารถด้านชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ จึงได้ผนึกกำลังสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมกันบูรณาการนำองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นด้านชีววิทยาระบบและชีวสารสนเทศ วิศวกรรมเมแทบอลิก พันธุวิศวกรรม วิศวกรรมโปรตีน รวมถึงกระบวนการทางชีวภาพและเทคโนโลยี มาสร้างกำลังคนเฉพาะทางขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนางานวิจัยสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศ

นางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไบโอม จำกัด กล่าวว่า ในขณะที่ประชากรของเรากำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยด้านสุขภาพในวงกว้างอย่างรุนแรง ทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างกำลังจะหมดลง ซึ่งสวนทางกับความต้องการที่เพิ่มทวีคูณท่ามกลางวิกฤตินี้ ทั่วโลกจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ Bio Economy โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง Deep Biotechnology เช่น ชีววิทยาสังเคราะห์ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูง สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน ปัจจุบัน ตลาดของผลิตภัณฑ์ชีวภาพทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งใน 8 ประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดของโลก ถือว่ามีความพร้อมและความได้เปรียบด้านทรัพยากรในการที่จะดำเนินการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพขั้นสูง ซึ่งบริษัท ไบโอม จำกัด เป็นบริษัทแรกที่ spin-off จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาสังเคราะห์ โดยมีทีมงานนักวิจัยหลักและนักวิจัยร่วมที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวภาพ แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพสังเคราะห์ โดยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ในด้านต่างๆ เช่น การสร้างตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพประสิทธิภาพสูง ทั้งรูปแบบ Specialty enzyme และโรงงานเซลล์จุลินทรีย์ อีกทั้งให้บริการการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มนี้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันผลงานของนักวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตอบสนองต่อห่วงโซ่อุปทาน และขับเคลื่อนสินค้านวัตกรรมชีวภาพที่สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน

การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินงานด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ภายใต้ความร่วมมือจาก Thailand Synthetic Biology Consortium ที่จะสามารถยกระดับศักยภาพ งานวิชาการ งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่จะช่วยสนับสนุน และผลักดันพันธกิจของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งหวังจะพัฒนาทั้งทางวิชาการ การวิจัย การบูรณาการองค์ความรู้จากหลายสาขานำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ในอนาคตต่อไป

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ไบโอม จำกัด จึงวางแผนขยายความร่วมมือเพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนทางด้านวิชาการและการวิจัยในสาขาชีววิทยาสังเคราะห์ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ ในการขับเคลื่อนงานวิจัย และนวัตกรรม สู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่อยอดธุรกิจให้กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเหลือสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและโลกอย่างยั่งยืน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated